น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการจัดทัพวางหมาก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในแบบฉบับ “นายกฯลุงตู่” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า 2566
ล่าสุด รัฐบาลอาศัยห้วงจังหวะปลายปี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่ จัดเต็ม จัดหนักทุกกระทรวง เช่น “ช้อปดีมีคืน” โดยนำค่าใช้จ่ายการซื้อสินค้าและบริการลดหย่อนภาษีในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน 5.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.1-0.2% ของ GDP นอกจากนี้ยังให้ขึ้นมอเตอร์เวย์ฟรีปีใหม่ 7 วัน รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันเอาใจประชาชน และอื่นๆอีกมากมาย
แน่นอนว่า มาตรการดังกล่าวนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งที่เด็ดของรัฐบาล ที่สามารถทำให้ประชาชนผ่อนคลายความรู้สึกแย่ๆเรื่องของเศรษฐกิจ และเตรียมตั้งรับกับเศรษฐกิจปีหน้า ที่ใครหลายๆคนมองว่า ยังคงเจอมรสุมคลื่นลูกใหญ่ จากเอฟเฟกต์เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession หรือ ถดถอย
ล่าสุดมีสำนักเศรษฐกิจหลายๆแห่ง ออกมาปรับประมาณการณ์ GDP ของไทย อาทิเช่น World Bank ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2566 เป็น 3.6%YoY จากเดิม 4.1%YoY ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ปรับลดจากเดิม 4.2%YoY มาอยู่ที่ 4%YoY
ทั้งนี้ แม้ GDP ของไทยจะถูกปรับลดประมาณการลงมาในปีหน้า แต่โดยภาพรวม ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มองว่า ยังขยายตัวได้ดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯ คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย ททท. คาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปีนี้ หรือราว 20 ล้านคน
และการทีครม. อนุมัติหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ประชาชนนั้น คาดว่าจะหนุนการใช้จ่ายและเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ราว 2.78 แสนล้านบาท และน่าจะช่วยดัน GDP ในปีหน้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.76%
ขณะที่มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อ โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่3.2% ปีหน้า 3.7% และคาดจะขึ้นสู่ระดับ 3.9% ในปี 2567 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว และการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังปรับคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2566 ขึ้นเป็นระดับ 22 ล้านคน จากเดิมคาด 20-21 ล้านคน จากจำนวนเที่ยวบินเริ่มเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเปิดประเทศของจีนในช่วงปลายปีหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาทก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ต้องติดตามไปพร้อมๆกับมาตรการรัฐ ทั้งนี้สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “นายวชิร คูณทวีเทพ” โดยเขาระบุว่า ต้องจับตาอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงราคาพลังงาน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
และนี่ก็คือปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตา รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯลุงตู่ เพราะเชื่อแน่ว่า ยิ่งอุณหภูมิการเมืองร้อนแรงมากขึ้นเท่าไร มาตรการทางเศรษฐกิจก็จะมีความโดดเด่นมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกเรื่องราว ถูกเชื่อมโยงกับคะแนนนิยมนายกฯลุงตู่นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews