GDP ลุงทรุดก่อนยุบสภา หนี้พุ่งแผนโด๊ปศก.สะดุด
สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อยกับตัวเลข “จีดีพี” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรชี้วัดฝีมือรัฐบาลนายกฯลุงตู่ โดยไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัว 1.4% yoy ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 3.5%
โดยที่การส่งออกดิ่งหนักสุด ลดลง 10.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2565 จีดีพีโต 2.6% นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.2% ขณะที่การส่งออกติดลบ
และทันทีที่ตัวเลข “จีดีพี” ประกาศออกมาในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนความแกร่ง และความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นดิ่งลงทันที โดยปิดตลาดช่วงเช้าดัชนีปรับตัวลดลง 6.20 จุด แตะ 1,652.09 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 3 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. คุยกับนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน “นายไพบูลย์ นลินทรางกูร” ที่ในอีกบทบาทหนึ่งนั้น เขาคือ CEO บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ถึงตัวเลขดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า เซอร์ไพรส์มากสำหรับจีดีพีปี 2565 ที่ประกาศออกมา เพราะต่ำกว่าที่คาด ส่วนปีนี้มองอัตราการเติบโตไว้ที่ 3.3%ใกล้เคียงกับสภาพัฒน์ที่คาดไว้ 3.2% แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว มีโอกาสที่จะดีมากกว่านี้ หรือ แย่กว่านี้ก็ได้ ดังนั้นถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดหน้าที่จะเข้ามาบริหารประเทศ
“ก็ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายแน่นอนปีนี้ แต่ถามว่าท้าทายกว่าปีที่แล้วหรือไม่ ก็คงไม่ได้ท้าทายกว่า คงพอๆกัน ปีที่แล้วเป็นเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยกันอยู่ ก็ยากไปอีกแบบ และก็มีสงคราม ปีนี้ก็เป็นการดูผลของดอกเบี้ยขึ้นมาจะมีขนาดไหน สงครามจะเบาลงไหม เอ็นเนอร์ยี่ ไครซิส อะไรต่างๆ จะเกิดขึ้นไหม ก็ยังมีตัวแปลค่อนข้างมากที่จะต้องติดตามกันต่อไป”
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า ไม่ง่ายเลยกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะทุกวันนี้หนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับสูงเกิน 60% ถึงแม้ว่าจะไปได้ถึง 70% ก็ตาม แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่อยากที่จะไปมากกว่านี้ ดังนั้นก็มีการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
(ปล่อยเสียง นายไพบูลย์ 2) “ก็ไม่ง่าย เพราะว่าเครื่องยนต์หลักของประเทศเราคือการส่งออกก็คงจะไม่ดีเท่ากับปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอแน่ๆ ตอนนี้ก็เหลือเครื่องยนต์การท่องเที่ยว บวกกับรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็ต้องดูว่านโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่ว่าจะเกิดข้อจำกัดอยู่ เพราะว่าหนี้สาธารณะก็ขึ้นมาค่อนข้างเยอะเกิน 60% แล้วถึงแม้ว่าจะไปได้ถึง 70% ผมคิดว่ารัฐบาลคงไม่อยากจะเอาขึ้นไปสูงขนาดนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาคท่องเที่ยว และก็ภาคเอกชน การใช้จ่ายต่างๆ ว่าจะสามารถกระเตื้องขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ก็ถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับรัฐบาลชุดใหม่”
และเมื่อถามต่อว่าในฝากฝั่งตลาดทุน อยากได้นายกรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลปัจจุบัน ควรมีบุคลิกแบบใด คำตอบที่ได้ น่าสนใจ
“ก็แน่นอนผมคิดว่า เราโฟกัสไปที่ตัวทีมเศรษฐกิจ เพราะผมคิดว่า ตลาดทุนก็เป็นทั้งเรื่องสั้นและระยะยาว ฉะนั้นในแง่ของนโยบายระยะยาวที่จะทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้น อันนี้ก็เป็นอะไรที่ตลาดทุนสนใจอยู่แล้ว เพราะจริงๆการลงทุนในตลาดทุนก็เป็นการซื้ออนาคตระยะยาว ฉะนั้นถ้าเราได้ทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่มาแก้ปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทำปัญหาโครงสร้างต่างๆ ซึ่งประเทศเรามีเยอะเลย ถ้าทำได้ทั้งสองอย่าง ผมคิดว่าก็จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดทุน”
และนี่ก็เป็นมุมมองด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2566 รวมถึงการบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันและชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องติดตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เพราะทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับปากท้องของประชาชน และคะแนนนิยมของตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews