1 เมษายน 2566 คือวันแรกกับการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรประจำตัวประชาชน
ซึ่งก่อนหน้านี้ รู้จักชื่อโครงการกันดี พูดติดปาก ทั่วบ้านทั่วเมืองว่า “บัตรคนจน” ล่าสุด ผู้มีสิทธิยืนยันตัวตนสำเร็จเรียบร้อยแล้วกว่า 12 ล้านคน โดยสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้
1. วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน จากร้านธงฟ้า และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
2. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
3. วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน
4. มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
5. มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
ซึ่งในมุมมองนักวิชาการและอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” สะท้อนภาพบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ข้อดีของโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ก็คือช่วยผู้มีรายได้น้อยจริงๆ แต่ข้อเสียก็คือทำให้ประชาชนที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
และจากนโยบายดังกล่าวทำให้หลายพรรคการเมือง ต่างเดินหน้าลุยต่อ พร้อมปรุงแต่งนโยบายด้วยการเพิ่มวงเงินในบัตร รวมการโปรโมทชูนโยบายแบบประชานิยม ลด แลก แจก แถม ซึ่งเรื่องนี้ “ศ.ดร.พรายพล” แสดงความเป็นห่วง เพราะจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และอันตรายมากต่อเศรษฐกิจ
“ต้องห่วงใยมากเลยเพราะว่าทุกพรรคก็ลดแลกแจกแถมกันเป็นแถวเลยเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เป็นแสนล้าน ปัจจุบันเราก็ทราบดีหนี้สาธารณะบ้านเราก็เพิ่มขึ้นเยอะเกิน 60% ของจีดีพีเกินเกณฑ์แล้วรัฐบาลก็ปรับเกณฑ์ขึ้นไปเป็น 70% ซึ่งก็ปีข้างหน้า ถ้าหากว่าใช้นโยบายลดแลกแจกแถมอย่างที่หาเสียงกันอย่างนี้มันอีกไม่นานหนี้ก็อาจจะเกิน หรืออาจจะใกล้เคียง 70% ของจีดีพีซึ่งก็อยู่ในขีดอันตรายถ้าหากว่ามันขึ้นไปถึงขนาดนั้นอันตรายในที่นี้ก็หมายความว่าถ้าเรารัฐบาลภาครัฐเป็นหนี้เยอะเยอะการกู้ยืมก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากดอกเบี้ยมันก็อาจจะแพงขึ้นเจ้าหนี้เองก็จะไม่แน่ใจในเรื่องของความสามารถในการจ่ายคืน”
นอกจากนี้ “ศ.ดร.พรายพล” ยังได้ฝากไปถึงพรรคการเมืองด้วยว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวด้วย
“ก็คงต้องมองนโยบายไม่ใช่ระยะสั้นอย่างเดียวไม่ใช่เพียงแต่ว่าให้คุณพอใจระยะสั้นแต่ว่าต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวด้วยเพราะว่าการเจริญเติบโตไม่ใช่ว่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไปแล้วก็จะเติบโตได้ช่วงสั้นๆ แต่ต้องคำนึงถึงอย่างที่เราคุยกัน หนี้สาธารณะก็ดี หนี้ของประชาชน หนี้ครัวเรือนก็ตาม หนี้ของธุรกิจก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเพราะว่าเราอย่าลืมว่า หายนะมันเกิดขึ้นกับหลายประเทศก็เพราะนี่เหล่านี้”
และนี่ก็เป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนต่อ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับหนี้สาธารณะของไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews