ยังคงร้อนแรงสำหรับการลงพื้นที่ขึ้นเวทีปราศรัยของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำเสนอโนโยบายสวยหรู ลดนั่น แจกนี่ แบบจุกๆ หวังมัดใจประชาชน
โดยนโยบายประชานิยมก็ยังเป็นหนึ่งในนโยบายที่ฮอตฮิตในการนำมาเป็นตัวชูโรงในการหาเสียงทุกๆ ครั้งเสมอไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม ซึ่งครั้งนี้พรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทยภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง” “เศรษฐา” ก็โดนกระแสวิภาควิจารณ์สนั่นถึง”นโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท” ให้คนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งถูกมองว่าอาจสร้างหนี้กระทบระบบการคลังของประเทศ และไม่ต่างอะไรกับโครงการ “คนละครึ่ง” ของ “รัฐบาลลุงตู่”
ด้าน รวมไทยสร้างชาติ ของ”ลุงตู่” เองก็ยังมุ่งเน้นนโยบายหาเสียงภายใต้แคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เพิ่มสิทธิ บัตรสวัสดิการพลัส เป็น 1000 บาท/เดือน และ สิทธิเบิกฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน และอื่นๆอีกมากมาย
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” แห่ง “พลังประชารัฐ” ก็มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สานต่อ “บัตรประชารัฐ” เพิ่มเงินเป็น 700 บาท และมอบสวัสดิการผู้สูงอายุ เกิน 80 ปี รับ 5,000 บาท และลดราคาน้ำมัน
ส่วนพรรคอื่นๆ ก็ไม่ยอมแพ้ต่างก็งัดนโยบายเด็ดมาแข่งกันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช
โดยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ได้พูดคุยกับ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่ง นายพรายพล ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับการแข่งขันของพรรคการเมืองที่ต่างชูนโยบายประชานิยมกันนั้น ค่อนข้างน่าวิตก ถ้าต้องใช้งบที่ค่อนข้างมากอาจเป็นภาระต่อระบบการคลัง ทำให้หนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้วอาจเพิ่มขึ้นไปอีก และจะกลายเป็นปัญหาในเรื่องของการกู้ยืมในอนาคตได้
“ก็มองด้วยความวิตก ถ้ามันใช้ประชานิยมประเภทอย่างนี้ มันก็จะใช้งบเยอะ มันก็จะเป็นภาระทางคลังให้กับภาครัฐมาก หนี้สาธารณะมันก็สูงอยู่แล้วปัจจุบันนี้ มันก็จะสูงขึ้นไปอีก ก็จะกลายเป็นปัญหาในเรื่องการกู้ยืมในอนาคต เจ้าหนี้เขาก็คงไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ จะให้กู้ดอกเบี้ยมันก็จะสูงขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดเลยนะ ถ้าใช้เงินๆ มากๆ อย่างนี้จริง มันจะไปเอาเงินที่ไหนมา มันจะไปเก็บภาษีเพิ่ม มันจะไปลดงบปกติ ไปหารายได้เพิ่มเติมยังไง มันก็ไม่มีทางพอไปได้ เป็นไปได้ยากที่จะหาเงินมาเพิ่มได้โดยไม่ต้องมีหนี้เพิ่ม”
ทั้งนี้เมื่อถามว่าการที่ยังมีการดึงเอานโยบายประชานิยมมาหาเสียงอยู่สะท้อนให้เห็นภาพอะไรในเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยบ้าง
นายพรายพล กล่าวว่า ก็สะท้อนให้เห็นถึงความประชานิยม ในลักษณะที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่ออนาคตของประเทศ พร้อมมองว่าในต่างประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะมีนโยบายประชานิยม แต่ก็ไม่รุนแรงและมากเหมือนประเทศไทย
“มันก็สะท้อนความประชานิยม ในลักษณะที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่ออนาคตของประเทศ บางประเทศก็มี ประเทศอื่นๆ ก็มีอยู่บ้าง เท่าที่เห็นๆ นะ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่เป็นลักษณะของการใช้เงินฟุ่มเฟือยถึงขนาดนี้นะ นี่มันถึงขนาดจะแจกเงิน แจกทอง โกยกันจะลดหนี้ จะลดราคาน้ำมันอะไรต่ออะไรพวกนี้ หลายๆ ประเทศก็คงทำบ้างนะ แต่ไม่เห็นดีกรีที่มันมากและแรงถึงอย่างในประเทศไทย คือประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มันหลอกประชาชนเขาไม่ได้หรอก ประเทศที่ กำลังพัฒนาก็อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่ามันก็ไม่เห็นมากเหมือนบ้านเราเลยนะ เท่าที่ดูผ่านๆ มาของเรานี่มันจะมากที่สุดแล้วตอนนี้ มันก็ลดแลกแจกแถม แจกก็แจกเงิน มันแข่งกันแจกแล้ว”
จากนี้ต่อไปคงต้องจับตามองความร้อนแรงในสนามเลือกตั้งว่าการแข่งขันของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น จะดุเดือดมากขึ้นแค่ไหน นโยบายประชานิยมที่ฮอตฮิตจะมัดใจประชาชนได้หรือไม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews