แจกสะบัดหาเสียง เงินน่ะมีไหม
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับประเด็นที่ กกต. ให้พรรคการเมืองนำส่งข้อมูลที่มาของเงิน ในการออกนโยบายโดย กกต. จะมีการประกาศวันที่ 21 เม.ย.
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูนโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคมีความน่าสนใจ แต่จะเป็นจริงได้หรือไม่ แล้วต้องใช้เงินมากแค่ไหน และแหล่งเงินที่จะมาแจกนั้น มาจากช่องทางใด
นั่นเพราะงบประมาณปี 67 หลังจากที่หักงบประจำ งบเงินเดือน งบผูกพัน และงบใช้จ่ายหนี้เงินกู้แล้ว รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม บอกว่า เหลือวงเงิน 2 แสนล้านบาทเท่านั้น
เรื่องนี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ชำแหละนโยบายและงบประมาณไว้อย่างสนใจ โดยระบุว่า “พลังประชารัฐ” ประกาศเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท/เดือน งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐ จะนำมาจากงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ของงบประมาณปี 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้ง
ทั้งนี้ประเมินมีผู้ได้รับสิทธิ์ ประมาณ 21.45 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.8 แสนล้านบาท หากอยู่ครบวาระ 4 ปี จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 7.2 แสนล้านบาท
ขณะที่ “รวมไทยสร้างชาติ” เพิ่มบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท/เดือน ซึ่งหากประมาณการคนได้รับสิทธิ์เท่ากับนโยบายด้านบนที่ 21.45 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากอยู่ครบวาระ 4 ปี จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านบาท
ส่วน “เพื่อไทย” ประกาศนโยบายแจก 1 หมื่นเงินดิจิทัลคาดใช้งบกว่า 5 แสนล้านบาท เริ่มทันที 1 มกราคม 2567 สำหรับแหล่งเงินนั้น ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอหั่นงบประมาณของกระทรวงต่างๆ รวมถึงเก็บภาษีเพิ่ม
ฝ่ายวิจัย ระบุอีกว่า นโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองนำเสนอ จะโน้มเอียงไปทางประชานิยม ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะทางการเงิน – การคลังของบ้านเราแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร
และจากการที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินหน้าตักสำหรับเม็ดเงินที่จะใช้ไปเพื่อสนองนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว พบว่าในส่วนของงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน พบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลเพียง 2 ปี ส่วนอีก 18 ปี เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล
โดยหากนับยอดขาดดุลงบประมาณสะสมพบว่ามียอดสูงถึง 6.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบันซึ่งมียอดล่าสุดอยู่ที่ 10.7 ล้านล้านบาท
ขณะที่การจัดหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่คือการเก็บภาษีให้ได้เพิ่ม หรือต้องจัดหาจากการกู้ ซึ่งอาจออกเป็น พ.ร.ก. กู้เงินพิเศษฯ หรือ ปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเปิดทางให้สามารถกู้ได้ แต่ก็มีข้อจำกัด ในเรื่อง สัดส่วนการกู้เงินในโครงสร้าง งบประมาณ และ กรอบวินัยการคลัง ซึ่งกำหนดให้ต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 61.13% ซึ่งหากกู้จนเต็มเพดาน 70% ของ GDP คือ 17.54 ล้านล้านบาท จะกู้เพิ่มได้อีก 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ควร ใช้จนเต็มเพดาน
ในมุมมอง ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จะได้เห็นการกู้เงินเพื่อทำตามนโยบายของพรรคการเมือง แต่การกู้เงินรอบนี้จะมีการคัดค้านทั่วบ้านทั่วเมือง เนื่องจากสถานการณ์ไม่ได้จำเป็นเหมือนช่วงโควิด และส่วนตัวก็มีเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไร เราก็จะได้เห็นที่เด็ดของนโยบายประชานิยมอีกอย่างแน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews