หาเสียงการเมือง สะเทือนค่าแรง
ในห้วงจังหวะชิงไหวชิงพริบ กับนโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรงของเหล่าบรรดาพรรคการเมือง ที่ในขณะนี้ต่างประโคมโหมโรงขายฝัน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือครองใจประชาชน ชนะการเลือกตั้ง
ชัดเจนสุดกับ เพื่อไทย และ ก้าวไกลที่หยิบยกประเด็นนี้มาหาเสียง โดยนโยบายพรรคก้าวไกลมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีแรกเป็น 450 บาท และพรรคเพื่อไทยจะขึ้นค่าแรงไปถึง 600 บาทในช่วงวาระการทำงาน 4 ปี ซึ่งจากปัจจุบันค่าแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 354 บาท
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มองว่า เป็นภาระของบริษัทเอกชนที่ต้องแบกรับไว้ ซึ่งฝ่ายวิจัยฯใช้สมมุติฐานแรงงาน 40 ล้านคน หากคิดจากค่าแรง 600บาท/วันของพรรคเพื่อไทย คิดเป็นเงินมูลค่าเพิ่มเติมจากค่าแรงเดิมกว่า 1.18 แสนล้านบาท หรือ 0.70% ของ GDP ขณะที่หากคิดจากค่าแรง 450 บาท/วัน ของพรรคก้าวไกลคิดเป็นเงินมูลค่าเพิ่มเติมจากค่าแรงเดิมกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.26% ของ GDP
ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นแรงกดดันต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากบริษัทจะต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีสัดส่วนต้นทุนแรงงาน 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด 2.กลุ่มเกษตรอาหาร มีสัดส่วนโครงสร้างค่าแรง 1.5-8% ของต้นทุนรวม 3.กลุ่มที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนค่าจ้างผ่านผู้รับเหมา 13% ของยอดขาย หรือราว 20% ของต้นทุนรวม และ 4.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนต้นทุนค่าแรง 5-8% ของต้นทุนรวม
ขณะมุมมองผู้ประกอบการ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี คือ ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล ที่จะพิจารณาร่วมกัน
“ค่าจ้างมันควรจะเหมาะสม เหมาะสมเท่าไหร่ เรามีกรรมการไตรภาคี เค้าเป็นคนพิจารณาคคือกรรม ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล เค้าก็ใช้เงินเฟ้อ ใช้ค่าครองชีพ ค่าอะไรต่างๆ เป็นปัจจัย ผมคิดว่าการเมืองเองหรือ กกต. ควรจะกำหนดไว้เลยว่าเรื่องค่าจ้าง ไม่ใช่เรื่องที่คุณใช้งบประมาณ ไม่ใช่เรื่องคุณจะมาใช้กฎหมาย ในการกำหนดเพราะว่ากฎหมายกรรมการ กฎหมายที่เกี่ยวกับค่าจ้างมีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเค้าพิจารณามาจากเป็นรายจังหวัด แล้วก็ส่งเรื่องเข้ามาส่วนกลาง”
นายธนิต กล่าวอีกว่า วันนี้พรรคการเมืองไม่ควรนำนโยบายขึ้นค่าแรงมาเป็นกลไกในการหาเสียง เพราะจะสร้างภาระกับประเทศและผู้ประกอบการ
“ค่าจ้างค่าแรงถ้าคุณเอาไป 450 บ้าง 600 บ้าง 700 บาทบ้าง ต่อไปก็จะมีพรรคที่เสนอวันละ 1,000 วันละ 2,000 เพราะเค้าไม่ได้ลงทุนนี่คุณก็มาแป๊บๆ มาสัญญาแล้วคุณก็ออกไป แต่ภาระมันจะตกที่ประเทศ จึงอยากขอให้ภาคการเมืองเค้าอย่าเอาค่าแรงมาเป็นกลไกในการหาเสียง เพราะว่ามันส่งผลความเสียหายของประเทศเรามีกรรมการไตรภาคี ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล เค้าอยู่ร่วมกันมา 20 ปี ไม่มีปัญหาให้เค้าคุยกันเอง มันก็มีกลไก มีเงื่อนไข ที่เป็นมาตรฐานโลกคือดูเงินเฟ้อ ดูเศรษฐกิจของประเทศความสามารถของนายจ้าง ดูสภาพของลูกจ้าง เขาก็เอาพวกนี้มาประกอบกันแล้วก็ให้กลไกพวกนี้มันเดินหน้า”
และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนของนายจ้างต่อนโยบายหาเสียงการขึ้นค่าแรงของเหล่าบรรดาพรรคการเมือง ที่โปรยยาหอมเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับแรงงาน ซึ่งจะนี้ต่อไปจะต้องติดตามการขับเคลื่อนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อแน่ว่ายิ่งใกล้วันเข้าคูหามากขึ้นเท่าไร นโยบายหาเสียงก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews