กู้ 1.56 ล้านล้าน เสิร์ฟหาเสียง
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง นั่นเพราะนโยบายของแต่ละพรรค ล้วนมีเป้าหมายใหญ่ คือ ผลักดันให้เศรษฐกิจโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยภาระของงบประมาณ และหนี้สาธารณะที่จะสูงขึ้น
โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า งบประมาณที่จะต้องใช้รองรับการใช้จ่ายตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ 3.35 ล้านล้านบาท โดยมียอดราว 9.3 หมื่นล้านบาท ที่พออนุมานว่า รัฐบาลสามารถนำไปใช้เพื่อตอบสนองแนวนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินที่รัฐบาลสามารถกู้เพิ่มได้อีกราว 1.56 ล้านล้านบาท กรณีก่อหนี้สาธารณะจนเต็มเพดาน 70% ของ GDP ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ควรใช้จนเต็มเพดาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากทราบผลการเลือกตั้งคงต้องติดตามว่างบประมาณการการกู้ยืมและการใช้จ่ายได้สอดคล้องกับกำหนดนโยบายหรือไม่ และจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด
ในส่วนนโยบายพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณ และเสนอให้คณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณามีทั้งสิ้น 67 พรรคการเมือง ซึ่งหลายพรรคมีนโยบายประชานิยมที่ต้องใช้งบประมาณ หลักแสนล้านบาทขึ้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
– พรรคเพื่อไทย จำนวนนโยบาย 70 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 3 ล้านล้านบาท
– พรรคภูมิใจไทย จำนวนนโยบาย 10 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 2.5 ล้านล้านบาท
– พรรคก้าวไกล จำนวนนโยบาย 52 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 1.3 ล้านล้านบาท
– พรรคพลังประชารัฐ จำนวนนโยบาย 14 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 1 ล้านล้านบาท
– พรรคประชาธิปัตย์จำนวนนโยบาย 11 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 6.8 แสนล้านบาท
-พรรครวมไทยสร้างชาติจำนวนนโยบาย 11 นโยบาย วงเงินที่ต้องใช้ 2.5 แสนล้านบาท
ในมุมมอง ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึง นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ กับการใช้งบประมาณไว้อย่างน่าสนใจ โดย ดร. สมชัย กล่าวย้ำว่า จะได้เห็นการกู้เงินเพื่อทำตามนโยบายของพรรคการเมือง แต่การกู้เงินรอบนี้จะมีการคัดค้านทั่วบ้านทั่วเมือง เนื่องจากสถานการณ์ไม่ได้จำเป็นเหมือนช่วงโควิด และส่วนตัวก็มีเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
ดร. สมชัย กล่าวอีกว่า วันนี้ไม่มีพรรคการเมืองที่พูดถึงเรื่องการหารายได้จากภาษีเลย ดังนั้นเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องหารือเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมองว่านโยบายที่หาเสียงไว้ เรื่องใดที่ใช้เงินงบประมาณไม่มาก ก็สามารถทำได้
” ถ้าเป็นรัฐบาลผสม มาดูสิว่านโยบายที่หาเสียงอะไรที่มันเห็นพร้องต้องกัน แล้วในปริมาณเงินที่มันได้เงินไม่มากนัก อย่างเช่นเรื่องของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่จะทำให้เห็นถ้วนหน้าใช้เงินไม่เยอะ ตรงนี้ก็ทำไปก่อนได้อยู่ในวิสัยที่พอจะหาได้ ส่วนอะไรที่ใช้เยอะ ก็จะมีกำหนดเวลาไม่จำเป็นต้องรีบทำทันที แล้วอันที่ไม่ได้เห็นพร้องต้องกัน คือรัฐบาลสมมุติมีผสมกัน 3-4 พรรค มีบางนโยบายที่มีพรรคเดียวเสนอ อีก 3 พรรค ไม่ได้เสนอด้วย อันนี้เราเอาไว้ทีหลังเลย อาจจะไม่ทำเลยก็ได้ มันก็พูดได้ว่าเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ไม่ใช่รัฐบาลเดียว เพราะฉะนั้นถ้าพรรคร่วมอื่นเค้าไม่เอาด้วย ก็ทำไม่ได้ เพราะว่านี่คือเป็นวิธีหนึ่งที่จะหาทางออก ก็คือว่าตัวเองก็ไม่ได้ผิดสัญญาในการหาเสียงทีเดียว แล้วก็พอจะทำให้เรื่องของทางด้านการคลังพอจะไปได้”
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามนโยบายหาเสียงต่างๆของเหล่าบรรดาพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญต้องดูงบประมาณประกอบว่ามีเพียงพอหรือไม่ และจะหางบประมาณส่วนไหนที่สามารถนำใช้ได้ เพราะทุกเงื่อนไข ย่อมมีกฏกติกา ความเสี่ยงและความรุ่งโรจน์ต่อเศรษฐไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews