รัฐบาลใหม่ยังไม่ไปถึงไหน ใครจับมือใคร ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ยังต้องลุ้นกันอีกพักใหญ่ รัฐบาลใหม่จะเดินหน้าทำงานได้เต็มร้อยตอนไหนไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ปัญหามาเต็มแน่นอน โดยเฉพาะภัยแล้งมาตรงตามนัดทุกปี ใกล้เข้าฤดูฝนแต่ฝนก็ยังทิ้งช่วง
โดยนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สมาคมฯได้มีการติดตามนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงไว้ พบว่ายังไม่เห็นนโยบายของพรรคการเมืองใดที่เน้นช่วยเหลือและสนับสนุนชาวไร่ชาวนา จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ ที่ต้องเร่งดำเนินการทันทีภายใน 1-3 เดือนแรก หลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ คือ ต้องเร่งหาแหล่งน้ำและที่กักเก็บน้ำป้องกันปัญหาภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง จนกระทบต่อการเพาะปลูกที่กำลังเริ่มอีกครั้ง ซึ่งข้าวนาปรัง ฤดูการผลิต ปี 2566 ภาคกลางกำลังเริ่มทำนาแล้ว โดยมีสัดส่วนการเพาะปลูกข้าวเปลือกเจ้ากว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตที่ออกสู่ตลาดทั้งประเทศ
เร่งการพัฒนาพันธุ์ข้าวและจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่รองรับความต้องการตลาดผู้ซื้อและส่งออก ก่อนที่ประเทศไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามไปทั้งหมด
เร่งแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา ซึ่งร้อยละ 80-90 เป็นหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. อยากให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการพักหนี้ต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลาต่อเนื่อง 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเกษตรกร เพื่อชดเชยความเสียหายที่สะสมมาตั้งแต่เกิดโควิด -19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีนี้ผลผลิตและการค้าจะดีขึ้น หากหยุดหนี้ไว้ชั่วคราวจนกว่าปัญหาหนี้เดิมจะเบาบางลง จะทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นและฟื้นตัวกลับมาได้
นอกจากนี้ยังต้องเร่งลดต้นทุนการผลิต ที่ในเวลานี้ต้นทุนของชาวนายังปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ และทุกรัฐบาลที่เข้ามาเคยพยายามในการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรแต่ไม่สามารถทำได้เป็นรูปธรรม สุดท้ายคือการจัดหาสวัสดิการชาวนาที่เกษียณอายุเกิน 60 ปี ได้มีรายได้เหมือนการเกษียณของระบบราชการ เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 3 พันบาท เพราะรับแค่เบี้ยคนชราไม่เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
แต่ห่วงที่สุด คงหนีไม่พ้นปัญหาภัยแล้งรุนแรง กลัวรัฐบาลจะรับมือไม่ทัน จนกระทบการเพาะปลูกข้าว เพราะเดือนเมษายนแทบไม่มีฝน น้ำในเขื่อนเจออากาศร้อนมาก ปริมาณลดลงต่อเนื่อง หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่และเร่งออกมาเตรียมรับมือ ปัญหาภัยแล้งกระทบต่อผลผลิต ราคาข้าวอาจพุ่งมากในรอบหลายปี จะกระทบผู้บริโภคทำให้เดือดร้อนต่อเป็นลูกโซ่ จึงอยากเห็นการแก้ปัญหาเห็นภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไขและเตรียมความพร้อม รับมือ
การเมืองไทยจะออกมาในรูปแบบใด อาจปรับทิศเปลี่ยนขั้วมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งหมด แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนคือยังไงคนไทยยังต้องบริโภคข้าว เห็นความสำคัญดูแลให้การผลิตยังเพียงพอกับความต้องการ ไม่กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนคงดีที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews