จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ หลังประเทศไทยได้รัฐบาลขั้วใหม่ ก้าวไกล “พิธา” นายกรัฐมนตรี
ซึ่งเรื่องนี้ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เป็นไปได้ที่กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 เพราะกนง.มีเป้าหมายอยู่แล้วที่จะให้อัตราดอกเบี้ยแตะร้อยละ 2 เพื่อไม่ให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและเฟดห่างกันมากนัก
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมรับการขึ้นดอกเบี้ย สังเกตได้จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งฟอร์มทีมให้เร็วเพื่อที่จะได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื้อรังหลายๆอย่าง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 31 พ.ค. ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ จากการประชุม กนง. ครั้งก่อน
กนง. ได้ส่งสัญญาณว่า กนง. อาจยังไม่หยุดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจคาอยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภครวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมกนง. วันที่ 31 พ.ค. นี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้
อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ขณะที่แรงกดดันจากแนวโน้ม
นโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเริ่มส่งสัญญาณอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ส่งผลให้ กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้
ขณะที่ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.00% ไปตลอดปี 2566 หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญความผันผวน ทั้งนี้ ทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า
โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับปัจจัยหนุนหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อต่างจากที่ตลาดส่วนใหญ่คาด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นคงจะเป็น อีกปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews