สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2566 พบว่า ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่สินค้าเกษตร ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญ ต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้
โดยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเมษายน 2566 โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบที่ร้อยละ 7.6 โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากฐานการส่งออกที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมทั้งแต่ละประเทศมีการสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ทำให้คำสั่งซื้อในช่วงต้นปีชะลอตัว โดยสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวถึงร้อยละ 11.2 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน รวมทั้งการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ กลับมาหดตัวอีกครั้ง ตามการชะลอตัวของความต้องการจากประเทศคู่ค้า รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก
แต่ถือว่ายังดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งในเดือนเมษายน 2566 อินโดนีเซีย ติดลบมากถึงร้อยละ 29 / เวียดนาม ติดลบ ร้อยละ 16.2 / สิงคโปร์ ติดลบร้อยละ 16 / เกาหลีใต้ ติดลบ ร้อยละ 14.3 และไต้หวัน ติดลบร้อยละ 13.3
และสถานการณ์หลังจากนี้ยังพอมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้า เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการ จะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 บวกสูงถึงร้อยละ 23.8 โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งขยายตัวถึง ร้อยละ 142.8 ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
รวมทั้งนโยบายพัฒนาพลังงานสะอาดเชิงรุกของประเทศคู่ค้า ทำให้มีการนำเข้าสินค้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น และที่สำคัญกระทรวงพาณิชย์ ยังมีแผนผลักดัน และการแก้ไขอุปสรรคของการส่งออกร่วมกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน ในช่วงครึ่งปีหลัง รวมกว่า 350 กิจกรรมที่เตรียมการไว้แล้ว น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท
น่าจะทำให้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ หดตัวน้อยลง หรือ ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ ร้อยละ 1-2 ซึ่งในแต่ละเดือนมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยจะต้องเกิน 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากต่ำกว่านั้นการส่งออกน่าจะติดลบถึงตัวเลข 2 หลัก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงเดิม จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว / อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด และมีปัจจัยเพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
และสำหรับในช่วง 4 เดือนของปีนี้ ไทย มีมูลค่าส่งออกรวม 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังหดตัวที่ร้อยละ 5.2
ส่วนการนำเข้า เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.3 ส่งผลให้ในเดือนเมษายน ไทย ขาดดุลการค้าที่ 1,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 96,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.2 ทำให้ภาพรวม 4 เดือน ไทย ยังคงขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามการผลักดันการส่งออก ไม่ว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีแผนในการผลักดันในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว แต่การมีรัฐบาลใหม่ ยังคงมีความจำเป็นเพื่อที่จะได้เร่งรัดมาตรการกระตุ้นการส่งออกในส่วนที่เหลือ ให้ยังสามารถขยายตัวได้ แม้ว่ายังต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยที่ผันผวนอีกมาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews