เกมไม่จบ”พิธา”นายก ก้าว(ไม่)ไกลตั้งรัฐบาล
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคก้าวไกลที่มี “พิธา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
รวมถึงการถือครองหุ้นสื่อทำให้อาจขาดคุณสมบัติ และการนับคะแนนของ 47 หน่วยเลือกตั้ง 16 จังหวัดใหม่อีกครั้งในวันนี้ 11 มิ.ย. เนื่องจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งและบัตรลงคะแนนไม่ตรงกัน
นักวิเคราะห์ มองว่า การนับคะแนนใหม่อาจมีผลต่อการสวิงของจำนวนส.ส. ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล และอาจมีผลต่อแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลในลำดับถัดไปได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันที่ขนเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทย ค่อนข้างให้ความสนใจมากพอสมควร
และยิ่งไปกว่านั้น การชุมนุมทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากม็อบต้าน”พิธา”เป็นนายกฯ ย่อมสร้างความหวั่นไหวต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “ดร.สมชัย จิตสุชน” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่ในอีกบทบาทหนึ่งนั้น เขาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.เพื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในห้วงจังหวะการเมืองเข้มข้น โดย “ดร.สมชัย” กล่าวว่า หากมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น
“ถ้าชุมนุมก็เป็นความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นรัฐบาล ถ้ามีการชุมนุมปุ๊บ นักลงทุนก็จะห่วง ก็จะยิ่งทำให้หน้าตาของรัฐบาลยิ่งไม่ชัดเจนขึ้น สมมติว่าเปลี่ยนขั้วรัฐบาลไม่ใช่ก้าวไกล ทำท่าไม่ใช่ก้าวไกลแล้วมีการชุมนุมปุ๊บ นักลงทุนก็บอกว่าแล้วสุดท้ายใครเป็น คือเกมมันไม่จบ เรื่องของเรื่องถ้ามีการชุมนุมเกมก็ไม่จบ ความไม่แน่นอนก็จะยังลากยาวต่อไป แล้วเพิ่มด้วยการชุมนุม ถ้าชุมนุมด้วยความสงบ ในแง่ของนักลงทุนก็จะเทียบกันระหว่างชุมนุม สงบกับไม่สงบ นักลงทุนก็คงไม่ชอบอย่างหลัง”
สอดรับกับผลสำรวจของหอการค้าไทยที่ระบุว่า ความไม่ชัดเจนของสถานการณ์การเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้การลงทุนใหม่มีการชะลอออกไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมแถลงผลประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินการได้เร็วขึ้น พร้อมขยับไทม์ไลน์ 2-3 สัปดาห์ หากเป็นไปตามที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยระบุว่าเตรียมรับรองส.ส.ให้เร็วที่สุด หากเป็นไปตามที่เคยหารือกัน วันที่ 13 ก.ค.66 จะเป็นวันสุดท้าย จากนั้นจะมีกระบวนการให้ ส.ส.รายงานตัว เปิดประชุมสภาเลือกประธาน และนายกฯ
นายพิธา กล่าวอีกว่า ตอนนี้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต้องเตรียมพร้อมเพื่อแถลงนโยบายต่อสภา รวมถึงการเปลี่ยนผ่านงบประมาณ ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว จะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลประชาชนเร็วขึ้น
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามกับขับเคลื่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในห้วงจังหวะที่อาจมีม็อบรุกกดดัน”พิธา”อย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ ย่อมมีผลเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews