เกาะติดสมการการเมืองในห้วงจังหวะรอโหวต”พิธา”เป็นนายกฯ แม้ว่าตำแหน่งประธานสภาฯยังไม่ตกผลึก ว่า พรรคใดจะเป็นเจ้าของ ระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย”
แต่ที่แน่ๆความเชื่อมั่นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในตลาดหุ้น ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า ภาพสถานการณ์การเมืองไทยที่ดูไม่ค่อยราบรื่น เป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ อีกทั้งความเสี่ยงทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่อาจเข้ามากดดันเงินบาทให้อยู่ในโซนอ่อนค่า และลดแรงจูงใจให้ต่างชาตินำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ซึ่งความคืบหน้าทางการเมืองไทยที่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 ในวันที่ 3 ก.ค. นี้ และคาดว่าจะเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 ก.ค. 2566 ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกราว 1 สัปดาห์
แต่ทั้งนี้ระหว่างทางมีประเด็นที่เข้ามาเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยังมีอีกหลายอุปสรรคที่จะต้องผ่านด่าน อาทิ ปมที่พรรคก้าวไกลชูนโยบายหาเสียงแก้ ยกเลิก ม.112 ขณะที่เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อาจไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะล่าสุด นายเสรี สุวรรณภานนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ว. ได้ออกมาเผยต่อสื่อว่า เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน Candidate นายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ คุณสมบัติและความเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญของว่าที่นายกฯ ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ อาทิ คดีการถือหุ้นสื่อ ITV ของ “นายพิธา” ซึ่งทาง กกต. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและจะเรียกให้เข้าไปชี้แจงในเร็ววันนี้ และที่สำคัญตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Indicator ที่จะเป็นการบ่งบอกถึงตำแหน่งนายกฯ
เช่นเดียวกับ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป ระบุว่า หากการเมืองไทยไม่คืบหน้า จะกดดันต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากความไม่แน่นอนทางนโยบายที่จะกระทบภาคธุรกิจ และหากการเมืองไทยเริ่มคืบหน้านโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลจะกดดันดัชนีผ่านหุ้นกลุ่มนายทุนใหญ่ ซึ่งเป็น Big Cap ของตลาดหุ้นไทย
ขณะที่ภาคเอกชน นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวกับ สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สิ่งที่นักลงทุนเชื่อมั่นต่อประเทศไทยก็คือ การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าเป็นนักลงทุนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมานาน ก็จะชินต่อสถานการณ์การเมืองไทยเป็นอย่างดี ไม่มีปัญหา และถ้าดูนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะเห็นว่าทุกพรรคมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนและประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนหวังว่าทุกอย่างจะราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลภายในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ หากการจัดตั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนเวลาในเดือนสิงหาคม เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจโตเหลือเพียงร้อยละ 2.0-2.5 จากเดิมที่ กกร. คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-3.5 เพราะเศรษฐกิจยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จำเป็นต้องได้รัฐบาลตัวจริงเข้ามาขับเคลื่อน
จากนี้ต่อไปยังคงต้องจับตาสมการทางการเมืองโหวต”พิธา”เป็นนายกฯ อย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขับเคลื่อน ย่อมเชื่อมโยงกับรัฐบาลใหม่ที่ประเทศไทยจะได้ ซึ่งมีผลพัวพันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews