เข็นส่งออกสุดตัว ไหวแค่ไหนทำก่อน
นับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ การเมืองไทยก็ยังไม่ลงตัว หวังได้ผู้นำรัฐบาล หวังได้รัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ที่มีความสามารถ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน คงมีลุ้นกันอีกยาว
แต่ที่ไม่ต้องรอเวลานี้ คือการส่งออกเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่าเกือบดับเต็มที่แล้ว เพราะสถิติการส่งออกล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ติดลบถึงร้อยละ 4.6 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี ติดลบมากถึง ร้อยละ 5.1 โดยเป็นการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ยัง ไม่เปลี่ยนเป้าหมายการส่งออก โดยหวังว่าการส่งออกในปีนี้จะยังคงทำได้ร้อยละ 1-2
ซึ่งนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้อาจไม่โดดเด่นนัก หลังจากตัวเลขการส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เศรษฐกิจชะลอตัวลง จากแรงกดดันของเงินเฟ้อ ที่ทำให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อที่ชะลอตัว จึงกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยหอการค้าไทย มองว่า เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่อยู่ในระดับเสมอตัว หรือติดลบเล็กน้อยยังเป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวลนัก และจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆการส่งออกทั้งปีจะเป็นบวกได้หรือไม่นั้น คงต้องรอการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากสัญญาณกลางปีถึงปลายปีมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ก็มีลุ้นที่การส่งออกจะพลิกกลับมาบวกได้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ คงเป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะรวดเร็วได้หรือไม่ เอกชนเชื่อว่านโยบายและแผนต่างๆ ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในขณะนี้ ยังคงขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง
แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ก็คงต้องเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกของไทยให้มากขึ้น เชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นโจทย์ที่หอการค้าไทย จะได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ผลักดันให้เกิดขึ้นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
คงไม่ต่างอะไรกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีผลสำรวจ พบว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะต้องเร่งกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันได้ เช่น การลดต้นทุนค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี และการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใน FTA ฉบับเดิมให้มากที่สุด รวมทั้งเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากผลกระทบของโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews