Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

เคาท์ดาวน์ “พิธา” นั่งนายก เรียกศรัทธาดูดลงทุน

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการขยับขับเคลื่อนสมการทางการเมือง โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ

 

 

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 4 ก.ค. มีมติให้ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ภาพการเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมจัดตั้งรัฐบาล

 

 

ว่ากันว่า นี่คือปัจจัยหนุนให้นักลงทุนที่ไม่ชอบความไม่แน่นอนและได้ชะลอการลงทุนไปก่อนหน้านี้ มีแนวโน้ม กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนต่างชาติ ในมุมมองนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากนี้ไปปัจจัยที่จะต้องติดตามต่อเนื่อง คือการแบ่งกระทรวง และการโหวตนายกฯ คาดจะเกิดขึ้นในวันที่ 13-15 ก.ค.

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการต่อรองด้านกระทรวงสำคัญที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ประเด็นข่าวการจัดตั้งรัฐบาลยัง มีโอกาสพลิกผันได้ระหว่างที่รอความชัดเจน

 

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า สเต็ปต่อไปหลังเลือกประธานสภาฯแล้ว นั่นก็คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยประเมินว่าน่าจะทิ้งช่วงประมาณ 10 วัน ซึ่งผู้ที่ผ่านการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน นั่นหมายความว่าต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุน 376 คนขึ้นไป

 

 

ทั้งนี้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการลงมติข้อตกลง MOU ร่วมกันมีเพียง 312 เสียง ซึ่งขาดอีก 64 เสียงถึงจะมีคะแนนเสียงสนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ซึ่งต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. บางส่วน ทั้งนี้จากการที่ว่าที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นผ่านสื่อ ระบุว่า ถ้าโหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ผ่านรอบแรกอาจเปิดจะให้โหวตใหม่อีก 1-2 ครั้ง เพื่อให้อิงตามหลัก MOU ที่ได้ว่าร่วมกันทั้ง 8 พรรค ว่าด้วยเรื่องการร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ตัวแทนของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

ส่วนท่าทีของภาคเอกชนนั้น ล่าสุด ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “นายสนั่น อังอุบลกุล” กล่าวว่า เมื่อกระบวนการเลือกประธานสภาฯ เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นในส่วนของการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งก็ยังมีสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 3 แนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

 

1. ในการโหวตเลือกนายกฯ ส.ว. ให้การสนับสนุนนายพิธา จนได้คะแนนเสียงตามกฎหมายได้เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การประกาศนโยบายและการขับเคลื่อนว่าจะมีความโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการจัดทำงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อเนื่อง ส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาลเอง

 

 

2. กรณี ส.ว. ไม่โหวต สนับสนุนนายพิธา แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจจะเสนอแคนดิเดตจากพรรคร่วมขึ้นมาแทน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า ส.ว.จะให้การสนับสนุนหรือไม่ และ 3. กรณี ส.ว. ไม่รับ และเกิดการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็ยังเร็วไปที่จะสรุปในประเด็นนี้

 

 

ดังนั้น ประธาน หอการค้า บอกว่า วันนี้คงต้องดูไปทีละขั้นตอน ว่าสถานการณ์จะออกมาในทิศทางใด หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีการชุมนุมประท้วง รัฐบาลนิ่งและมีเสถียรภาพคิดว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยของหลายหน่วยงานที่ยังมองภาพในมุมบวก โดยเฉพาะ world Bank ที่ล่าสุดมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจาก 3.6 เป็น 3.9 ในปีนี้

 

 

จากนี้ต่อไปร่วมนับถอยหลัง ลุ้นระทึกโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ ว่าจะเข้าวินหรือไม่ เพราะผลของการโหวตนายกฯ ย่อมหมายถึงอนาคตของประเทศไทยนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube