จับสัญญาณการเมืองผ่านสมการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังจากการลงมติครั้งที่ 1 “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไปไม่ถึงฝัน เพราะได้คะแนนเสียงในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ หากการโหวตครั้งต่อไป 19 กรกฎาคม “นายพิธา” ยังไม่สามารถผ่านการโหวตนายกฯได้ ทำให้โอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสูงขึ้น
โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ตั้งคำถาม 4 ข้อ ชวนให้ติดตาม ได้แก่
1) ทางรัฐสภาจะมีการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อลงมติโหวตเป็นนายกฯต่อหรือไม่ และถ้าใช้จะมีอีกกี่รอบ
2) หากขั้นตอนแรกไม่สำเร็จ จะมีการให้สิทธิ์กับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนใหม่หรือไม่ และจะยังเป็นการรวมกลุ่ม 8 พรรคเดิมที่มีการเซ็น MOU กันก่อนหน้านี้หรือไม่
3) ในกรณีที่รวมกลุ่ม 8 พรรคเดิมแล้วแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ยังไม่ได้รับเสียงโหวตเพียงพอ จะเห็นการสลับขั้วของพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมทันทีทันใดหรือไม่ และจะใช้เวลาการโหวตนานเท่าใด
และ 4) กลไกนอกสภาที่ดำเนินคู่ขนานกันอยู่ ณ ขณะนี้ เช่น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องต่างๆ ซึ่งจะเริ่มมีความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่สัปดาห์หน้า หากผลที่ออกมาไม่เป็นที่ยอมรับของมวลชน จะก่อให้เกิดการยกระดับการชุมนุมมากขึ้นหรือไม่
ดังนั้น กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีรวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นคงจะกินระยะเวลาอย่างแน่นอน ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองต่อไปได้ และมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยชื่นชอบในอดีต จากมุมมองที่ว่าการจัดสรรงบประมาณรัฐบาลฉบับใหม่
รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงถัดไปจะมีความล่าช้าออกไปด้วย ถือเป็น Downside risk ต่อประมาณการ GDP ของไทยในช่วงถัดไป ซึ่ง ณ วันนี้ก็มีการเติบโตที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอยู่แล้ว
ทั้งนี้ นอกจากจะต้องจับตาการเมืองในสภาเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังคงต้องจับตาการเมืองนอกสภาด้วยเช่นกันโดยเฉพาะการนัดหมายชุมนุมกันในหลายจังหวัด
ซึ่งเรื่องนี้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด “ดร.เชาว์ เก่งชน” กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สิ่งที่นักลงทุนติดตามนอกจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว นั่นก็คือ การชุมนุมประท้วงนอกสภา และถ้าไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงจนต้องยกระดับการควบคุม ก็เชื่อว่า สภาจะเดินหน้าต่อไปได้
“ผมคิดว่าน้ำหนักของตลาดหรือนักลงทุน คงไปดูเรื่องความเรียบร้อย สถานการณ์ว่ามีความสงบเรียบร้อยหรือเปล่า ถ้ามีการชุมนุมประท้วงบ้างแต่ไม่ได้รุนแรง ก็คงไม่มีผลอะไรมาก ในที่สุดก็นักลงทุนก็คงคาดว่า ถ้าไม่ได้ชุมนุมประท้วงจนเกินระดับหรือมีการต้องใช้กำลังในการควบคุมการชุมนุมที่รุนแรง ขั้นตอนต่างๆ ในสภาก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้”
“ดร.เชาว์” กล่าวอีกว่า ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งจะต้องติดตามนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“ไปรอดูการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะดำเนินการเสร็จในกรอบเวลาที่ไม่นานเกินไปไหม ถ้าภายในสักกลางเดือนสิงหาเราได้ภาพที่ชัดเจน ผมว่าอันนี้ก็คงจะถือได้ว่า กรอบการจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะผ่านไป หลังจากนั้นก็คงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล หน้าตาของรัฐบาล มาตรการสิ่งที่เขาจะผลักดัน”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาสมการทางการเมืองเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ ทุกการขับเคลื่อน ย่อมเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews