จับสัญญาณการเมืองไทย ผ่านสมการโหวตนายกฯครั้งที่3 หลังประธานรัฐสภา “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เคาะวันเลือกนายก 4 สิงหาคม 2566 หลังจากก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยกรณีห้ามโหวตนายกฯซ้ำ ทำได้หรือไม่
ทั้งนี้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี2567 ขณะที่เหล่าบรรดาซีอีโอก็ กังวลว่าจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังด้วยเช่นกัน
โดยผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566” จากผู้บริหาร ส.อ.ท. ที่ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม
มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้ประเทศไทยต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. บอกว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมานั้น ทำให้การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 พร้อมกันนี้ได้หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต3.5%
ขณะที่หอการค้าไทยโดย “นายธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับ 3.5%
ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า 2567 “นายธนวรรธน์” มองว่า มีโอกาสโต 3-4% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นกับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือนกันยายนนี้หรือไม่ เพราะถ้าล่าช้าไปมากกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าขึ้นและเข้าสู่โหมดความเสี่ยง ซึ่งอาจจะได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในห้วงจังหวะก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างใกล้ชิดและต้องดูการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แกนนำพรรคเพื่อไทยด้วยว่าจะมีพรรคใดร่วมรัฐบาลบ้าง เพราะทุกประเด็นย่อมเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews