สถานการณ์ราคาสินค้าขณะนี้ หลายรายการมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งในหมวดอาหาร และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.38 เย็นใจรอรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 สูงขึ้น ร้อยละ 0.38 โดยยังคงเป็นอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อหมู และเครื่องประกอบอาหาร ที่ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ประกอบกับฐานที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับสูง
โดยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น ร้อยละ 1.49 และสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัวร้อยละร้อยละ 0.38 ซึ่งราคาสินค้าและบริการ ที่นำมาคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อ จำนวน 430 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 170 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 156 รายการ และสินค้าที่ราคาลดลง 104 รายการ
ขณะที่ ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทย ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำสุดในอาเซียน 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ
และสำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้น ร้อยละ 2.19 แม้จะยังเกินกว่ากรอบที่คาดการณ์ไว้ ร้อยละ 1.0-2.0 แต่คาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือ อัตราเงินเฟ้อยังคง เคลื่อนไหวเล็กน้อย เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าน้อยละ 1 ทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์
แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง คือผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาสินค้าอาหารบางประเภทอาจขยายตัวสูงขึ้น / ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปค / และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น โดยหากสถานการณ์หากเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สนค. จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 ใหม่อีกครั้ง
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริโภคภาคครัวเรือน การดำเนินงานของภาคธุรกิจ จนกระทั่งถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสถานการณ์เงินเฟ้อของไทย
ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ราคาสินค้าแต่ราคาอาหารยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น จาก ภัยแล้ง โดยเฉพาะผักผลไม้ ไข่และนม รวมถึงอาหารสำเร็จรูป
โดยในจังหวะนี้ ที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ในการดูแลบริหารจัดการค่าครองชีพให้กับประชาชน อัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันถือว่ายังไม่น่ากังวลนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีหากจะไม่มีรัฐบาล เข้ามาช่วยบริหารจัดการปากท้องให้ยังอยู่ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews