โหวตนายกฯซัดแบ่งเค้กรมต. หน้าเก่าหลอนลงทุนหนีไทย
จับสัญญาณการเมืองไทยกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 2566 หลัง “รวมไทยสร้างชาติ” เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” และมีแนวโน้ม “พลังประชารัฐ” จะเข้าร่วมด้วยเช่นกัน ทำให้สมการโหวดนายกฯ รวมเป็น 314 เสียง และคาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มจากส.ว.ครบ 375 เสียงอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้กับการเมืองไทย ดังนั้นยังต้องติดตามว่า แคนดิเดต นายกฯ ของพรรคเพื่อไทย “นายเศรษฐา ทวีสิน” จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ หรือ “อุ๊งอิ๊ง” จะเข้าวิน ขณะที่ “หมอหนู อนุทิน” ก็ยังมีลุ้น
นั่นเพราะเกมนี้ย่อมมีความเสี่ยง โดยนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยลดลงอย่างมาก หลังพรรคก้าวไกลประกาศไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้การต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เป็นไปโดยลำบาก การแย่งกระทรวงสำคัญทำให้การบริหารทีมเศรษฐกิจอาจเป็นไปโดยไม่มีเอกภาพ ที่สำคัญ เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนโยบายสำคัญๆ ที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ หรือดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นต้น
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” ถึงมุมมองการเมืองไทยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่น โดยรัฐมนตรีฯคลัง “สุชาติ” บอกว่า การที่ประเทศไทยไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ย่อมกระทบต่อการค้า การลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาพของรัฐบาลใหม่ก็ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของตัวรัฐบาลเองด้วย ซึ่งวันนี้ยอมรับว่าภาพการเมืองไทยที่ออกมา มีแต่ความยุ่งเหยิง
“มีรัฐบาลดีกว่าไม่มี อันที่2 ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของตัวรัฐบาล ซึ่งในอดีตพรรคก้าวไกลก็พยายามจะสร้าง ก็ดูว่าดีมีคนชื่นชมอยู่พอสมควร แล้วก็อันนี้ก็มีรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็ในแง่การเมืองผมก็เห็นว่ามีอีรุงตุงนังเยอะ ซึ่งอันนี้ก็มีผลไม่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ ฉะนั้นก็ต้องมีผู้นำที่น่าเชื่อถือ เชื่อมั่น แล้วก็มีนโยบายที่ดีที่คนเชื่อถือ แล้วก็ที่นักลงทุนเชื่อถือด้วยนะ”
รัฐมนตรีฯสุชาติ กล่าวอีกว่า การเมืองไทยวันนี้ มีแต่การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง ซึ่งหลายคนก็มีปัญหาความไม่โปร่งใส ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน เพราะมองว่าคนที่ไม่โปร่งใสเข้ามานั่งรัฐมนตรี
“บางคนก็อยู่ในระบบเก่า มาปุ๊บก็จะเรียกร้องเป็นรัฐมนตรีตรงนั้นตรงนี้ทันที หลายคนก็เห็นว่ามีปัญหาความไม่โปร่งใส่มา อันนี้รัฐบาลควรจะประกอบด้วย คนดี ไม่คอรัปชั่นมาก่อน ไม่ใช้อำนาจบาทใหญ่ มันถึงจะเป็นรัฐบาลที่ดี แต่ที่นี้ผมก็ดูคนที่มาเป็นองค์ประกอบ แล้วก็มาเรียกร้องกันทั้งนั้น เหมือนกับว่าตำแหน่งรัฐมนตรีเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่แบ่งเค้กกัน คนที่มาเป็นรัฐมนตรีมารับใช้ประชาชน ไม่ใช่มาแย้งตำแหน่ง เอาอำนาจซึ่งอาจจะส่อไปในทางที่ไม่ชอบธรรมทั้งทางด้านการเงินและด้านต่างๆ เข้าไป ผมอยากให้มีคนใสๆ แล้วก็มีคณะรัฐมนตรีไม่ต้องมาก”
และเมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น รัฐมนตรีฯสุชาติ กล่าวว่า ยังแย่อยู่ เป็นเพราะว่าเรากำหนดเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจไม่ถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายจีดีพีที่ 5-6%
“เศรษฐกิจไทยยังแย่อยู่ทุกวันนี้ คนไม่มี ขายไม่ค่อยได้ เป็นเพราะเราว่าเราตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่ถูกต้อง เศรษฐกิจที่ด้อยพัฒนาอย่างเมืองไทย พัฒนาช้า ควรตั้งเป้าหมายความเจริญเติบโต 5-6% ตอนนี้แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ตั้งเป้าหมาย 3-4% และไม่เคยถึง และเหตุผลที่ตั้งเป้าหมาย 3-4% เป็นเพราะว่าเขาเข้มงวดในนโยบายดอกเบี้ย กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทมากเกินไป คือดอกเบี้ยโดยพื้นฐานสูงเกินไป แล้วไปกดเงินเฟ้อต่ำๆ เงินเฟ้อควรมากกว่านี้หน่อย คือคนทำของไปขายจะได้พอมีกำไร ถ้าเงินเฟ้อมันต่ำ พอทำของไม่มีใครซื้อ ขายไม่มีกำไร ใครจะไปลงทุน แล้วก็ค่าเงินก็แข็งเกินไป ส่งออกติดลบ”
และนี่ก็เป็นมุมมองอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” ต่อการเมืองไทยในห้วงจังหวะที่เราจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเสียงจาก ส.ส. ขั้วตรงข้าม หรือ ส.ว. ที่จะมาสนับสนุน แคนดิเดต นายกฯ คเพื่อไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews