Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

“เศรษฐา”แจกจริง กู้แน่ เงินหมื่น Digital Wallet

Featured Image
ถูกตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงิน 5.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” จะใช้ในโครงการ Digital Wallet แจกเงินหมื่นให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายในพื้นที่ 4 กิโลเมตร ว่าจะเอามาจากที่ใด

 

 

ซึ่งที่ผ่านมา “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกแต่เพียงว่า ขณะนี้เตรียมไว้ทั้งหมดแล้ว

 

ส่วนผลสัมฤทธิ์ของนโยบายนี้ รัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงการคลัง “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” เปิดเผยว่า เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจะหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 4 รอบ คิดเป็นเม็ดเงินที่หมุนรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยรูปแบบการจ่ายเงินจะจ่ายเพียงครั้งเดียว เพื่อนำไปใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป กำหนดให้ใช้จ่ายในพื้นที่ที่อยู่ในบัตรประชาชนไม่เกิน 4 กิโลเมตร แต่อาจจะเพิ่มระยะทางเพื่อความเหมาะสม คาดว่าจะจ่ายผ่านบล็อกเชน

 

ทั้งนี้ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ในอดีตนั้น เขาคือ 1 ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ถึงนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทของรัฐบาลเศรษฐา 1 และแหล่งเงินที่คาดว่าจะมาใช้ในนโยบายนี้ โดย “ศ.ดร.พรายพล” กล่าวว่า นโยบายนี้ เป็นนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่รัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาใช้ และอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น

 

“ก็เรื่องใช้จ่าย ก็เป็นเรื่องที่เขาบอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็คงจริงนะ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงที่กว้างขวางมากขึ้นในแง่ของว่าอาจลงไปถึงพื้นที่ชนบทอะไรต่ออะไรได้ แต่ข้อเสียอย่างที่เรารู้กันรัฐบาลก็ต้องควักเงิน จะต้องมีภาระหนี้สูงขึ้น จะต้องกู้เงินมากขึ้น แล้วก็ในบางส่วนก็อาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ ราคาสินค้าบางอย่าง เกิดขาดแคลนขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจำกัดวงให้ใช้ในพื้นที่ 4 กิโลเมตรของผู้จ่าย ในพื้นที่แคบๆ สินค้าบางอย่างอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาก็อาจสูงขึ้นได้”

 

และเมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินอีก เศรษฐกิจไทยจะโอเคหรือไม่ คำตอบที่ได้ น่าสนใจ

 

“ก็ตอนนี้ก็คงรับได้ เพราะว่ายังไม่ถึงเพดานการกู้ ในแง่ของงบประมาณรายปีก็ดี ทั้งในแง่หนี้สะสมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ถึง 70% ต่อจีดีพี ในแง่ก็พออยู่ในกรอบที่ทำได้ แต่ว่าถามว่ามีความคุ้มหรือเปล่า อันนี้ผมก็ยังสงสัย เพราะว่าอันนี้แจกทุกคน ไม่ว่าคนจน คนรวย

 

ซึ่งอันนี้ก็ดูอาจจะไม่ค่อยได้ลดความเหลื่อมล้ำเท่าไร คนรวยก็ได้ ทั้งๆ ที่คนรวยได้ไปก็ไม่ได้ใช้เพิ่มขึ้นหมื่นนึง ผมว่า สำหรับคนที่มีเงินเขาใช้เท่าไรก็ใช้เท่านั้นอยู่แล้ว หมื่นนึงอาจจะไม่มีความหมายสำหรับเขาเท่าไร แต่ว่าสำหรับคนจนก็อาจจะมีความหมาย ตรงจุดนั้น จริงๆ ผมอยากจะเห็น ถ้าจะให้นะ ถ้าจะแจกกันก็แจกเฉพาะคนมีรายได้น้อยดีกว่า แต่ว่าอันนี้เป็นนโยบายของเขาอยู่แล้วในการหาเสียง”

 

ขณะฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ประเมินแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ใน Digital Wallet แจกเงินหมื่นให้กับประชาชน จะมาจาก 3 ส่วน คือ

 

1. การจัดสรรงบประมาณ โดยความเห็นจาก TDRI หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุไว้ว่า แหล่งที่มาของเม็ดเงินน่าจะมาจาก 4 แหล่ง ดังนี้ รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท, การบริหารจัดการงบประมาณ และปรับสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 2 แสนล้านบาท และการจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท

 

2. การกู้เงิน โดยประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.15% ซึ่งตามกรอบวินัยการคลัง สามารถกู้เพิ่มได้จนกว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ระดับ 70% ซึ่งจะกู้เพิ่มได้อีกราว 1.58 ล้านล้านบาท แต่โดยหลักการแล้วไม่ควรกู้จนเต็มเพดานหนี้

 

3. กระทรวงการคลังอาจจะลดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ให้ กบข.-ประกันสังคม ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าสามารถทำได้ รองรับเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายได้พอสมควร

 

จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา 1 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายลดค่าครองชีพ เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนด้วยการแจก Digital Wallet 1 หมื่นบาท ที่ต้องแลกด้วยภาระการคลังที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube