เฮ!เป๋าตุง”เศรษฐา”จัดให้ ลดดีเซล แจกเงินหมื่น
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก 13 กันยายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรระหว่าง 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 รวมถึงลดค่าไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่เกินถังละ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังพักหนี้เกษตรกร และ SME นาน 3 ปี รวมถึงเห็นชอบบัญญัติ 10 ประการรีสตาร์ตภาคการท่องเที่ยวไทยครั้งใหญ่ เริ่มต้นยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานระหว่าง 25 ก.ย.2566-29 ก.พ.2567 อีกทั้งยังขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 7% ออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายที่ประชาชนเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด นั่นก็คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ตั้งคณะกรรมการเดินหน้านโยบายดังกล่าว ซึ่งแม้ว่านโยบายนี้ “นายกฯเศรษฐา” จะยืนยันว่าไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินในการแจกครั้งนี้
โดยนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า เรายังคงติดตามความชัดเจนของงบประมาณที่จะใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าอาจต้องกู้เพิ่มบางส่วน ทำให้ฐานะการคลังและหนี้สาธารณะปรับตัวขึ้นจากปัจจุบันที่ 61% ต่อ GDP และอาจเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลมากขึ้นในระยะยาว
ด้านประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “นายสนั่น อังอุบลกุล” สะท้อนมุมมองนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมกับแสดงความห่วงใย 3 ข้อต่อนโยบายดังกล่าว โดย “นายสนั่น” กล่าวกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า นโยบายนี้ ถือเป็นมาตรการไฮไลท์สำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก
ซึ่งจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการอัดฉีดเงินไปสู่ประชาชนนั้น หอการค้าฯ หวังว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 67 เพื่อเป็นแรงหนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าฯ ได้เคยประเมินตัวเลขคราวๆ ว่าจะสามารถหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 2 – 3 รอบ ราว 1.2-1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ GDP ไทยปีหน้าขยายตัวได้ราว 5% ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ 3 – 5%
อย่างไรก็ตาม นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้
1. งบประมาณที่จะนำมาใช้มีแหล่งที่มาจากส่วนใด แต่ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงได้มีการจัดสรรไว้แล้ว
2. อาจไม่จำเป็นต้องแจกเงินกับทุกคนที่เข้าเงื่อนไข แต่มุ่งให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด หากช่วยเหลืออย่างตรงจุดจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบได้หลายรอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยโดยตรง
3. สำหรับช่องทางการแจกเงิน หอการค้าฯ มองว่าหากสามารถนำมาเชื่อมกับระบบเป๋าตังของ กรุงไทยซึ่งมีฐานผู้ใช้งานอยู่แล้วและเคยประสบสำเร็จจากมาตรการคนละครึ่ง ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้เร็วขึ้น
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ นั่นหมายถึง ฐานะการคลังของประเทศที่เชื่อมโยงกับคะแนนนิยมนายกฯเศรษฐานั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews