คิด(กู้)ใหญ่ หนี้ไทยทุกคน
จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย หลัง “รัฐบาลเศรษฐา 1” ประกาศเดินหน้าให้ฟรี เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
ว่ากันว่า เกมนี้เดิมพันด้วย “ศักดิ์ศรี” และ “ชื่อเสียง” ของพรรคเพื่อไทยเจ้าของนโยยายแจกจริง ย้ำชัดได้แน่ ต้นปีหน้า 2567
และด้วยเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ มีมูลค่ามหาศาลกว่า 5.6 แสนล้านบาท ทำให้หลายภาคส่วนคิดไม่ตกว่า รัฐบาลนี้ จะเอาเงินมาจากที่ไหน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสมการของแหล่งเงินจะมาจากที่ใด การกู้เงิน ถือเป็นสิ่งที่ว่ากันว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โดยผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ “ดร.สมชัย จิตสุชน” ที่ในอีกบทบาทหนึ่งนั้น เขาคือ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งเขาได้กล่าวย้ำกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถึงแหล่งที่มาของเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยฟันธงว่า รัฐบาลกู้เงินอย่างแน่นอน
“ในที่สุดก็ต้องจบด้วยการกู้เงินอยู่แล้ว ซึ่งจะมีทั้งทางตรงและทางอ้อม คือทางตรงก็ไปกู้เลย แล้วก็จะบอกจะมาใช้ในเรื่องนี้ หรืออ้อมนิดนึง ก็คือว่าไปเพิ่มงบประมาณอย่างที่เค้าทำไปแล้ว งบประมาณรายจ่ายเพิ่มแสนนึงซึ่งก็หมายความว่าทำให้ขาดดุลมากขึ้นแสนนึง การขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกแสนนึง มันก็คือเป็นการกู้เพราะว่าทุกๆบาทที่มีการขาดดุลก็ต้องมีการกู้เงินแน่นอน เพราะฉะนั้นกู้แน่นอนแล้วแสนนึง ส่วนช่องทางอื่นที่พูดๆกัน
สุดท้ายก็ต้องจบด้วยการกู้อยู่ดี ตัวอย่างเช่นถ้าไปใช้มาตรา 28 ไปที่ธนาคารออมสิน เอาออกมาใช้ก่อนในทางกฎหมายบอกอยู่แล้วว่า ถ้าไปสั่งให้เขาทำรัฐบาลต้องชดใช้คืน การชดเชยคืนซึ่งอาจจะไม่ใช่ปีนี้ ก็อาจเป็นปีถัดไป แต่การชดเชยก็คือเป็นรายจ่ายงบประมาณอยู่ดี ซึ่งทุกๆบาทที่เป็นรายจ่าย สมมุติว่าปีหน้ายังขาดดุลอยู่ การที่ต้องจ่ายยอดนั้ เพิ่มขึ้นก็คือการกู้ในปีถัดไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าช่องทางไหนก็จบด้วยกันกู้อยู่ดี”
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับ Credit Rating อันเป็นผลมาจากหนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง “ดร.สมชัย” บอกว่าการปรับลดอันดับ Credit Rating จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“ถ้ามีการกู้ปุ๊บ ไม่ว่าจะโผล่หนี้สาธารณะปีนี้หรือว่าปีถัดไปก็ตาม เค้าอ่านเกมออกอยู่แล้วเพราะฉะนั้นเค้าก็มองว่ารัฐบาลคงจะต้องขาดดุลมากขึ้น มีการกู้มากขึ้น หนี้สาธารณะจะต้องปรับเพิ่มขึ้น อันนี้คือช็อตแรก แต่ที่น่ากังวลกว่านั้นคือว่า เค้าจะปรับอันดับลงในอีกมิติหนึ่ง ในมิติหนี้ที่ว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น การที่เพิ่มขึ้นไม่จำโดยไม่จำเป็น ถ้าผมเป็นบริษัทเครดิต ผมก็จะแสดงความกังวลเพราะว่ามันไม่รู้เลยว่าต่อไปจะมีแบบนี้อีกหรือไหม แล้วมันเป็นภาระที่ไม่จำเป็น คือพูดอีกอย่างก็คือว่าวินัยการคลังเริ่มจะเสียไป ซึ่งตรงนี้จะทำให้มุมมองของบริษัทเครดิตไม่ดี”
และเมื่อถาม “ดร.สมชัย” ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากประเทศไทยถูกปรับลดเครดิตจะมีมากน้อยเพียงใด คำตอบที่ได้ น่าสนใจ
“ช็อตแรกที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วก็คือว่าถ้า Credit Rating ลงต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลก็จะแพงขึ้น ก็คือจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น เหมือนคุณไปปล่อยกู้ ถ้าสมมุติว่าลูกหนี้ชั้นดี ก็อาจจะคิดดอกเบี้ยถูกนิดนึง แต่ถ้าเป็นลูกหนี้ที่เกรดต่ำลงมาคุณจะรู้สึกว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพราะฉะนั้น ขอดอกเบี้ยสูงขึ้นมานิดนึงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งถูกปรับลดอันดับลง ดอกเบี้ยก็แพงขึ้น ข้อเสนอแนะที่ดีที่สุดคือ ควรทบทวนเรื่องนี้ ว่าจริงๆแล้วควรทำไหมนโยบายนี้ มันไม่มีเหตุจำเป็นอยู่แล้ว อย่างที่หลายคนพูดกัน จนแผ่นเสียงตกร่องแล้ว ก็คือว่าภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ มันไม่ใช่ภาวะที่ จำเป็นต้องหว่านเงินกันขนาดนี้เป็นการทั่วไป เราไม่ได้อยู่ในภาวะเหมือนโควิด”
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนต่อนโยบายประชานิยมของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ซึ่งจากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขยับขับเคลื่อนแจกเงินหมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต อย่างใกล้ชิด เพราะทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับเรทติ้งของรัฐบาลนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews