ชัดเจนแล้วกับนโยบาย Digital Wallet แจกเงินหมื่นให้กับประชาชน ซึ่งจะเริ่มใช้พ.ค.ปีหน้า 2567 ภายใต้กรอบกติกาหลักเกณฑ์คือ มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท รับเงินง่ายๆ ผ่านแอปฯเป๋าตัง
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าว นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” บอกว่า จะเป็นก็ออก พรบ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันถึงโปร่งใส และมั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแต่อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่มากถึง 5 แสนล้านบาท กับแหล่งที่มาของเงิน คือ “การกู้” ก็ทำให้ใครหลายๆคน อดห่วงไม่ได้ว่า หนี้สาธารณะจะทะลุเพดานหรือไม่ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ โดย “รศ.ดร.ธนวรรธน์” ให้ความเห็นว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นเงินใหม่ที่เติมเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกใช้ทันทีพร้อมกันทั้งประเทศในเดือนพ.ค.2567 ทำให้จีดีพีปีหน้าโตได้ 4.5-5% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามนโยบายเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหากยอดเดินทางเข้ามาใกล้เคียง 40 ล้านคนในปีหน้า ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 5%
“สิ่งแรกที่เราต้องมาดูว่าเรื่องเงินมาจากไหน รัฐบาลก็มีทางเลือกอยู่แล้ว คือใช้เงินงบประมาณหรือว่าใช้เงินกู้ ซึ่งพอรัฐบาลเลือกใช้เงินกู้ก็ต้องกลับมาที่ว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้ไหมในพรบ.วินัยทางการคลังก็จะมีข้อเขียนไว้ว่ารัฐบาลไม่ควรกู้เงินแล้วทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 60% แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการกู้ยืมเงินและก่อหนี้สาธารณะอย่างน้อย 20% ของจีดีพีเพื่อแก้ไขปัญหาโควิดซึ่งเป็นภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการเปิดช่องไว้ว่าหนี้สาธารณะในระยะสั้นจะขยายเป็นเต็มเพดานไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ดังนั้นการที่รัฐบาลกู้พรบ. ออกพรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านก็น่าจะทำให้หนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 65% ต่อจีดีพีซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลสำคัญคือหนึ่ง ตัววงเงินที่กู้ 5 แสนล้านบาท ก็น่าจะทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 65% ต่อจีดีพีอยู่แล้ว 2.การที่รัฐบาลออก Digital Walletโดยผ่านเงินกู้ 5 แสนล้านเข้าไป เศรษฐกิจไทยก็น่าจะโตได้ในกรอบ 4.5 ถึง 5% ซึ่งทำให้ฐานจีดีพีใหญ่ขึ้น ดังนั้นตัวหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็น่าจะไม่สูงเกิน 65% ต่อจีดีพียังถือว่าไม่เสี่ยง”
ขณะที่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.โดยยอมรับว่าเป็นห่วงกับนโยบายกู้เงินมาแจก เพราะจะเป็นประเพณีค่านิยมให้กับพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า
“แล้วผมคิดว่าข้อวิจารณ์ที่ว่า มันจะเป็นการเริ่มประเพณีใหม่ที่ว่า ต่อไปถ้าหากว่ารัฐบาลเข้ามาใกล้เลือกตั้งแล้วเนี่ย ต้องการที่จะได้รับค่านิยม เค้าก็จะออกกฏหมายออกนโยบายแล้วมีการแจกเงินลักษณะอย่างนี้ถ้าหากมีการทำแล้วเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแข่งขันในการเลือกตั้ง มันก็จะมีความเสี่ยงที่จะไปใหญ่เรียกว่ารัฐบาลนี้ทำได้ การแข่งขันในรัฐบาลหน้า มันก็สามารถจะมีคนแข่งขึ้นมา บอกว่าแทนที่จะแจก 1 หมื่น เค้าก็แจก 1 แสนบาท แล้วก็พอเลยไปก็จะมีพรรคอื่นที่เค้าบอก ถ้าแจก 1 แสน ผมก็แจก 5 แสนบาท คือแจกกันไปโดยอาศัยเงินกู้หนี้สาธารณะอย่างนี้ มันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะการคลัง แล้วถ้าหากว่าเราแจกกันเพราะว่าเราต้องการตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นเท่านั้นเอง อันนี้ผมก็ว่าน่าเป็นห่วง”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ธีระชัย” กล่าวอีกว่า วันนี้เศรษฐกิจใหญ่ๆของโลกชะลอการเติบโตลง และมีการพูดถึงพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบกำลังตั้งเค้ามา ดังนั้นก็อยากให้รัฐบาลชะลอการแจกเงิน Digital Wallet ออกไปก่อน เพื่อที่จะรอดูสถานการณ์ก่อนที่จะออกมาในจังหวะที่ถูกต้อง
“ผมเองมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจภายนอก ผมเองมีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯก็ดี เศรษฐกิจยุโรปก็ดีเวลานี้มันกำลังอ่อนตัว รวมไปถึงเศรษฐกิจของจีนด้วย ส่วนธุรกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้นอะไร เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจใหญ่ๆของโลกในเวลานี้ มันกำลังแสดงอาการชะลอตัวอย่างชัดเจน มีคนวิจารณ์ว่ามันเข้าลักษณะที่เราเรียกว่าพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบกำลังตั้งเค้า เฆมที่ตั้งเค้าขึ้นมา เพราะฉะนั้นแทนที่จะมาเตรียมแผนการจ่ายเงินตั้งแต่วันนี้ ผมยังคิดอยู่ในใจว่าถ้ารัฐบาลสงวนการใช้จ่ายนี้เอาไว้ แล้วก็คอยดูสถานการณ์ในปีนี้ปีหน้า ว่ามันออกมาในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของประเทศยแค่ไหนอย่างไร แล้วถ้าจำเป็นก็ค่อยไปใช้เงินในขณะนั้น ผมว่าน่าจะเข้าท่ากว่า”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet แจกเงินหมื่นของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นซึ่งยึดโยงกับตลาดหุ้นรวมถึงเศรษฐกิจปากท้อง โดยมีแบรนด์ “เพื่อไทย” เป็นเดิมพันนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews