ย้อนอดีตปลด4ผู้ว่าธปท. เปิดศึกใหญ่นโยบายศก.
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับท่าทีของ “รัฐบาลเศรษฐา” กับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย”
เพราะนับตั้งแต่กระแสข่าวนายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” จะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” หลังผู้ว่าแบงก์ชาติ แสดงจุดยืนสวนทางกับความเห็นของนายกฯเศรษฐาในเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ได้ไม่คุ้มเสีย
ทั้งนี้ “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ” เคยให้ความเห็นไว้ว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เศรษฐกิจยังเติบโตได้ คือไม่ห้ามแจกเงิน แต่ต้องไม่หว่านแหและล่าสุด กับการออกมาโพสต์ข้อความอย่างดุดันผ่านโซเชียลมีเดียของ “นายกฯเศรษฐา” และ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นนี้เอง ก็ทำให้เกิดสึนามิลูกใหญ่ถล่มไปที่แบงก์ชาติ และถูกตั้งคำถามถึง “เก้าอี้” ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ของ “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ว่าจะสั่นคลอนหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูบทเรียนในอดีต ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรัฐบาล กับแบงก์ชาติ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 6 ถูกปลดในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี กรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร คนที่ 2 นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 10 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย
คนที่ 3 นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุของการปลดครั้งนั้นมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการประกาศปรับลดค่าเงินบาท และคนที่ 4 คือ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยไม่ได้ระบุเหตุผล แต่คาดว่ามีความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ถึงความเป็นไปได้ในการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติในสมัยรัฐบาลเศรษฐาโดย “ศ.ดร.พรายพล” กล่าวว่า การที่จะปลด กระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ยืนยันได้ว่าผู้ว่าแบงก์ชาติมีความบกพร่องหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีกฏหมายระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติที่ไม่ยอมทำตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีไม่ลดดอกเบี้ย
“น้ำหนักไม่พออยู่แล้ว ที่จะไปปลดผู้ว่าแบงก์ชาติด้วยเหตุผลนี้ มันก็จริงๆแล้วเค้าก็ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายการเงินที่ตกลงไว้กับรัฐบาลว่ากันตามจริง ทุกอย่างอยู่ในกรอบข้อตกลงระหว่างแบงก์ชาติกับคณะรัฐมนตรีอยู่แล้วแม้ว่าอาจจะมีความห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็ตาม มันก็อาจจะพูดได้ว่าในทางนึง มันก็เป็นผลของการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อที่จะรักษาหรือควบคุมปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยก็ต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการกู้เงินก็จะต้องมีการต้นทุนที่สูงขึ้น”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะหลังจาก”นายกฯเศรษฐา”ได้นัดประชุมพิเศษกับผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อถกประเด็นเศรษฐกิจและแนวนโยบายการเงิน ซึ่งนักลงทุนกำลังติดตามว่าจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนสัญญาณนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศหรือไม่อย่างไรนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews