สภาฯถกญัตติด่วนตั้งกมธ.ศึกษานิรโทษ “พิธา”ร่วมหนุน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยยืนยัน ไม่ใช่การยื้อเวลาแต่ต้องการเดินหน้าด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ด้าน “พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์” พรรคก้าวไกล สนับสนุนให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ย้อนไปถึงปี 2549 โดยเลิกผูกขาดกับคณะรัฐประหารขณะเดียวกัน วันนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมกันยื่น ร่างกฎหมายแก้ไข พรบ.ประชามติ ต่อประธานสภาฯ
สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันนี้ ซึ่งมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ
พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดมาหลายปี ทำให้มีนักศึกษา และประชาชน ต้องคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
ทั้งนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายยึดอำนาจ ที่มานิรโทษให้ตนเอง ผ่านสภาที่แต่งตั้งขึ้นมา แต่ล่าสุดได้มีการเสนอให้นำกฎหมายนิรโทษกรรม มาพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติในคดีที่มีปัจจัยทางความผิดเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ปัญหาคือควรมีคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อนำมาสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และไม่สร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งควรมีการศึกษาพิจารณาหลักเกณฑ์ให้เป็นที่ยุตติเสียก่อน จึงจะมีการตราเป็นกฎหมาย
ดังนั้น การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าเราทุกคนสามารถทะเลาะ เห็นต่าง
และขัดแย้งกันได้ ภายในกรอบกติกา โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัว ว่าจะถูกคุกคาม หรือถูกปิดปากด้วยกฎหมายอีกต่อไป
น.ส.ขัตติยา ยืนยัน ไม่ใช่การยื้อเวลา แต่ต้องการเดินหน้าด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และรับฟังเสียงจากกลุ่มคนต่างๆ ให้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือขอยืนยันในฐานะผู้สูญเสียตนไม่เห็นชอบที่จะให้อภัยผู้กระทำความผิดแก่ชีวิตเด็ดขาด
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ญัตติของพรรคเพื่อไทยว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด 22 ครั้งด้วยกัน และถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะนิรโทษกรรม เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในต่างประเทศที่มีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐกลับมาสู่มาตุภูมิประเทศของเขา ตนจึงคิดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา และต้องย้อนไปถึงปี 2549 โดยเลิกผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือปกป้องวัฒนธรรมความผิดลอยนวล
ขณะเดียวกัน วันนี้ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล พร้อมใจยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยหวังจะแก้ประเด็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพิ่มความยืดหยุ่น กกต. จัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้และมั่นใจแม้ต่างฝ่ายกัน แต่ร่วมผลักดันเพื่อประโยชน์ประชาชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews