GDP แผ่ว-ยุบพรรควุ่น ชี้ชะตาดอกเบี้ย 7 ก.พ.
นับถอยหลังสู่การประชุมเคาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ หลัง “นายกฯเศรษฐา” สะกิดให้แบงก์ชาติฉุดคิด หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ตามที่สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุด อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” วิเคราะห์ให้ฟังอีกครั้งถึงแนวโน้มผลการประชุมดังกล่าว โดยฟันธงว่า รอบนี้ กนง.คงดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ร้อยละ2.5 โดยมองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังสามารถไปต่อได้
และสำหรับตัวเลขจีดีพีปีนี้ “ศ.ดร.พรายพล” มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ 3% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ หรือ จีโอโพลิติก ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการประชุม กนง. 7 ก.พ. คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ไปก่อนเนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทาง กนง. ประเมินว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในบริบทปัจจุบันถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่อง แต่มาจากผลของปัจจัยชั่วคราว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลงในช่วงครึ่งหลังของปีมากขึ้น หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ทาง กนง. ประเมินไว้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้า และความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า ประเด็นเรื่องทิศทางดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องหลักที่อยู่ในความสนใจ โดยหากมองใน มุมของวัฎจักรของดอกเบี้ยโลกเชื่อว่าน่าจะเริ่มเข้าสู่ขาลงแม้การประชุมธนาคาร กลางที่สำคัญหลายประเทศในรอบแรกของปีนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ตามเดิม แต่หากมองผ่านการตอบสนองของตลาดพบว่า Bond Yield ส่วนใหญ่ ปรับตัวลดลง โดยในสหรัฐ Bond Yield อายุไม่เกิน 5 ปี ปรับลดลงจากจุดสูงสุด แล้วราว 1% ส่วน 10 ปีปรับลดลงมากกว่า 1% ซึ่งน่าจะพอบอกได้ว่าตลาด คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะลดลงในปี 2567 อาจอยู่ที่ประมาณ 1%
ส่วนในบ้านเรานั้น กระแสที่พุ่งไปที่การลดดอกเบี้ยก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ช้ากว่าที่คาด ขณะที่ Bond Yield1 ปี ปรับลดลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย องค์ประกอบดังกล่าวสะท้อนให้ เห็นโอกาสปรับลดดอกเบี้ยที่มีมากขึ้น และหากลดจริงก็จะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น
นอกจากนี้ ตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจไทยที่ทยอยออกมากในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เริ่มแสดงให้เห็น ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลง เฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ธ.ค. 2566 สะท้อนผ่านหลาย Indicators เริ่มจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ลบ 6.27%YoY ขณะที่ในปี 2566 ดัชนี MPI ลบ 5.11% เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า และ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นอกจากนี้ ธปท.ยังเผยว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.2566 ขยายตัวชะลอลงตามรายรับ ภาคการท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ชะลอลงจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบาน ทั้งมิติ GDP และการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้นและเชิงโครงสร้าง
ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินของไทยในเดือน ธ.ค.2566 และ ไตรมาส 4 ปี 2566ที่ดูไม่ค่อยสดใส อาจเป็นปัจจัยที่หนุนให้ แบงก์ชาติปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย ปี 2566-2567 และ มีโอกาสจะเห็น Gap คาดการณ์ GDP ของ แบงก์ชาติ และรัฐบาลที่แคบลง ซึ่งต้องติดตาม ทิศทาง กนง. ในการประชุมนัดแรกของปีวันที่7 ก.พ. รวมถึงประเด็นการเมืองไทยที่กลับมาร้อนแรงซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้น หลังศาล รธน. ชี้ ก้าวไกล “ล้มล้างการ ปกครอง” ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการถัดๆ ไป ได้แก่ กกต. อาจพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นได้นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews