ซัดส่วนต่างดอกเบี้ยโหด “เงินกู้-เงินฝาก”ธุรกิจอ่วม
เศรษฐกิจไทย “วิกฤติ” จริงหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่มีหลายคำตอบ
ซึ่งถ้าถาม “นายกฯเศรษฐา” เขามองว่า นี่คือวิกฤติ จำเป็นอย่างยิ่งที่แบงก์ชาติ จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโคม่าไปมากกว่านี้ แต่ถ้าถาม “ก้าวไกล” โดย “นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค เธอก็ยังกังขากับคำๆ นี้ โดยรอให้บอร์ดดิจิทัลเคาะนิยามคำว่า ‘”วิกฤตเศรษฐกิจ” ส่วนผู้ว่า แบงก์ชาติ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่วิกฤติ
แต่เหนืออื่นใดในการประชุมกนง. 7 ก.พ. ได้ชี้ชัดถึงภาพเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤติ แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 โดยมีกรรมการ 2 ท่าน จาก 7 ท่าน ลงมติเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ดังนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในปีนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทย จะเป็นอย่างไร สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.มีคำตอบ
โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยในระยะถัดไปของแบงก์ชาติ จะเป็นการปรับให้สอดคล้องกับ เสถียรภาพการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยทาง กนง. จะนำข้อมูลช่วง 3 เดือนก่อนการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 10 เม.ย. 67 มาพิจาณาร่วมด้วย ซึ่ง ประเด็นหลักๆ ที่ กนง. ให้ความสำคัญ อาทิ GDP, เงินเฟ้อ, หนี้ครัวเรือน รวมทั้งส่วน ต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม กนง. ที่ไม่เป็นเอกฉันฑ์เช่นนี้ ทำให้มีโอกาสเห็นการปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้น โดยหากพิจารณาจากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 2562 ช่วงที่มติการ ประชุม กนง. เสียงแตก เกิดขึ้นมาแล้ว 8 ครั้ง ซึ่งใน 6 ครั้ง จะตามมาด้วยการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินตามมติเสียงข้างน้อยในการประชุมครั้งถัดไป
สอดรับกับ SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ตลอดปีหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังไม่แผ่วลงมากนัก เว้นแต่เศรษฐกิจโตชะลอกว่าประมาณการ เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง จะเป็นส่วนให้กนง.พิจารณาลดดอกเบี้ยลงได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 67 โดยแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นและมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ที่ล่าช้า ซึ่งจะกดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก เป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทย
ขณะที่ “นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ ก็กล่าวกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมองว่า การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีข้อมูลรายละเอียดที่รอบคอบกว่าผู้ประกอบการ แต่โดยส่วนตัวอยากให้มีการพิจารณาช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการเวลานี้อยู่ที่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ประเด็นหลัก
นอกจากนี้ มองว่า รัฐบาลควรหามาตรการในเรื่องของการเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการอื่นๆนอกเหนือจากการรอพิจารณาเงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียวเพราะอาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการดึงเงินในกระเป๋าของผู้ที่มีรายได้สูงให้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยวิธีการจูงใจด้านภาษี หรืออื่นๆ ซึ่ง เวลานี้มองว่าคนมีเงินไม่ออกมาใช้จ่ายทำให้เกิดภาวะเงินฝืด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรไปพิจารณาในจุดนี้ เพื่อหาแรงจูงใจในการดึงเงินในกระเป๋า
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews