น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับตัวเลข “จีดีพี” ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งของเศรษฐกิจไทยแต่ในช่วงที่ผ่านมาจีดีพีของไทยขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2566 โตเพียง 1.7% YOYและหดตัว 0.6% QOQ ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน และการคลังมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่แรงหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 10 เม.ย.นี้ มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้นโดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยไทยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยโลก
ซึ่งจากข้อมูลในอดีต พบว่าแต่ละประเทศจะเน้นปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆมากกว่าที่จะปรับไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดเวลา อาทิ ช่วง ก.ค. 2553 – ส.ค. 2554กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัวสูง จาก 2.8% ใน พ.ย. 2553มาเป็น 4.3% ใน ส.ค. 2554 หากแต่สหรัฐยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจาก SUBPRIME
นอกจากนี้ หนี้สาธารณะไทยต่อ GDP ในเดือน ม.ค. 2567 พุ่งขึ้นราว 62.23%แม้จะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่หากว่า GDP ของไทยปรับลดลงก็มีแนวโน้มที่ระดับหนี้สาธารณะ จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงคาดหวังว่า การเดินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง จะมีความเข้มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 หลังการเบิกจ่ายงบประมาณได้รับการอนุมัติ
สอดรับกับบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า สัปดาห์นี้มีปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามคือการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่ออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567ในวันที่ 20-21 มี.ค. ซึ่งเป็นการเลื่อนพิจารณา จากกำหนดการเดิมประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วยิ่งขึ้น หากผ่านที่ประชุม ครม.คาดจะสามารถทูลเกล้าได้ในวันที่ 3 เม.ย. นี้
ทั้งนี้ ประเมินปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุน sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มก่อสร้างและค้าปลีกเป็นหลัก เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้ และอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจหลังจากนี้คือโอกาสในการปรับที่นั่งใน ครม. ในกระทรวงสำคัญ อาทิ กระทรวงการคลัง
ขณะที่นักวิชาการ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีการเร่งงบประมาณปี 2567 เพราะขณะนี้ล่าช้าไปมาก ซึ่งถ้าทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews