เหตุเมียนมาสะเทือนถึงไทย
เหตุเมียนมาสะเทือนถึงไทย (click ดูวิดีโอ)
นับรวมจากวันยึดอำนาจในเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกือบ 2 เดือนกับเหตุการณ์ที่พลิกผัน ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดไทย เวลานี้ชัดเจนขึ้นการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของรัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับ หลายองค์กรประกาศตัวชัดเจนคว่ำบาตรรัฐบาลทหารตอบโต้ทันที ทั้งองค์การสหประชาติ หรือ UN ประกาศชัดการเดินหน้าใช้รุนแรงของรัฐบาลทหารต่อประชาชนไม่สามารถยอมรับได้ และหลายประเทศพร้อมยกระดับมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจคว่ำบาตรเมียนมา
แต่เอาเข้าจริงเมียนมา ที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนาน มีความคุ้นชินกับการคว่ำบาตรเกินไป การตอบโต้ต่างๆ จึงไม่ได้รับการตอบสนอง และรัฐบาลทหารเอาตัวรอดมาได้เสมอ
เปิดหน้ามาแบบไม่สนใจโลกของรัฐบาลทหาร การค้าการลงทุนของไทยเป็นอย่างไร ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์นัดหารือร่วมกับภาคเอกชนที่ลงทุนในเมียนมา ว่าต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือหรือผลักดันด้านใดบ้าง โดยนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. บอกว่า สถานการณ์ในเมียนมา เวลานี้มีผลกับการกระจายสินค้าภายในประเทศระหว่างเมืองจากเหตุประท้วงที่มีผลต่อการขนส่ง แต่ในส่วนของการค้าชายแดนยังไม่ถือว่ามีปัญหา ด่านการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมายังคงเปิดทำการค้าอยู่ 6 ด่าน แต่ที่ด่านการค้ายังไม่สามารถเปิดได้แบบเต็มร้อยนั้น เพราะเหตุจากโควิด-19 ไม่ได้เกิดจากการยึดอำนาจภายในประเทศ
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในเมียนมา มีผลต่อการทำการค้าของประเทศไทย
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า สถานการณ์ในประเทศเมียนมาเวลานี้เหตุการณ์ค่อนข้างบานปลาย โดยทางออกที่ดีที่สุดนั้น คือการให้เมียนมาจัดการกันเองภายในประเทศซึ่งไม่ว่าจะใช้แนวทางใด ย่อมดีกว่าการให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง
ในขณะที่ความมั่นใจของนักลงทุนที่อยู่ในเมียนมานั้น เวลานี้ต้องยอมรับว่ามีความมั่นใจน้อยลง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและมีแนวโน้มว่าเมียนมาอาจถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศมากขึ้น
จังหวะนี้ประเทศไทยเอง เพื่อนบ้านใกล้ชิด คงต้องมีการจับตาสถานการณ์ เตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดการอพยพของประชาชน จากเหตุการณ์ที่รุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะนอกจากความปลอดภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว โควิด-19 ก็ไม่สามารถมองข้ามได้ หากจำเป็นที่จะต้องเปิดประเทศให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้าน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news