วันนี้ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อขอให้เพิกถอนคําสั่งออกจากราชการ เหตุเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเริ่มขึ้นจาก “ขบวนการ 4 คูณ 100 สยบปีกพระพรม” โดยมีขบวนการ 4 ต. ที่บุกค้นบ้าน ขบวนการพนักงานสอบสวนชุดทําคดีของ สน.ทุ่งมหาเมฆ ที่ไม่มีอํานาจในการสอบสวนแต่ไม่ยอมส่งเรื่องต่อให้ดีเอสไอ และขบวนการพนักงานสอบสวนชุดทําคดีของ สน.เตาปูน ที่รู้ว่าไม่มีอํานาจในการสอบสวนแต่ไม่ส่งเรื่องให้ดีเอสไอและ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กําหนด เพื่อออกหมายเรียกและหมายจับ สุดท้ายคือขบวนการของรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและเซ็นต์คําสั่งให้ตนออกจากราชการ
โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า ขบวนการดังกล่าวมีการสร้างเรื่องคดีเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงินของ สน.ทุ่งมหาเมฆ โยงกับ 8 นายตํารวจ จากนั้นใช้นิติอุบายหรือเทคนิคทางกฎหมายต่อศาลในการออกหมายค้นบ้านพักของตนเอง จนนํามาสู่การมุ่งขยายผลเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตนเองกับลูกน้อง 5 คน และพยายามฝืนทําคดีต่อ
โดยการสร้างเรื่องที่ สน.เตาปูน หรือเรียกว่าเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เพื่อแจ้งข้อหาฟอกเงิน และขอศาลออกหมายจับ โดยจงใจไม่แจ้งความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งสํานวนให้ ป.ป.ช. กระทั่งมีคําสั่งย้ายตนเองไปอยู่ที่สํานักนายกรัฐมนตรี ก่อนเรียกตัวกลับเพื่อสั่งให้ออกจากราชการ ก่อนส่งสํานวนให้ ป.ป.ช. เพียงแค่ 1 วัน เพราะรู้กันดีว่า หากส่งสํานวนให้ ป.ป.ช. จะทําให้ตนกลายเป็นผู้ถูกร้องเรียนและไม่สามารถสั่งให้ออกจากราชการได้
ส่วนเรื่องวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับคําสั่งให้ออกจากราชการ คือ การถูกตั้งคณะกรรมการ การระบุว่าหากอยู่ต่อจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กร และจะทําให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อธิบายว่า ตนถูกกล่าวหาตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2566
ขณะนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. และตนยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ หากทําให้เสียหายจริงต้องถูกออกจากราชการไปแล้ว ต่อมาถูกย้ายไปสํานักนายก ซึ่งจะทําให้เสียหายได้อย่างไรเพราะตนไม่มีอํานาจ กระทั่ง รรท.ผบ.ตร. เข้าพบ นายกฯ จนมีคําสั่งให้ออกจากราชการ โดยไม่รับคําเสนอแนะจากคณะกรรมการเสนอแนะ ตาม พ.ร.บ. ตํารวจ ปี 65 มาตรา 120 วรรค 4 แต่กลับใช้กฎ ก.ตร. ปี 47 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เช่นนี้ รรท.ผบ.ตร. และกองวินัยรวมถึงฝ่ายกฎหมาย ถือว่าทําผิดกฎหมายและมีโอกาสติดคุก
นอกจากนี้ยังได้สอบถามกับ ผอ.กองวินัย ซึ่งระบุว่าได้มีการประมวลเรื่องดังกล่าวไว้สองวันก่อนจะมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ คือ มีการร่างคำสั่งเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. และลงนามในวันที่ 18 เม.ย. แสดงให้เห็นว่าทํากันเป็นขบวนการ
โดยหลังจากนี้จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , ผู้บัญชาการกฎหมาย,ผู้บังคับการกองคดี, ผู้บังคับการสารนิเทศห้า, เลขานุกาลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, รวมถึงผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีที่มาปลดป้ายตนเองและปลดจากทำเนียบผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตนเองออกจากราชการ ในขณะที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งไปทำงานที่ สมช. นานแล้ว แต่ยังไม่มีการปลดป้าย ถือเป็นการทำให้ตนเองเสื่อมเสีย ดังนั้นจะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งหมดแต่ถ้าไม่อยากถูกดําเนินคดีก็ต้องบอกมาว่าใครเป็นคนสั่ง พร้อมระบุว่า “กระเหี้ยนกระหือรือ อยากเป็นนัก ผบ.ตร. ตนเจอมาเยอะ เตือนคุกรออยู่ เหลือ 2 ปี ยังสู้อีกนาน”
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ตนไม่ได้จะเพิ่งนายกฯ แต่จะเพิ่งระบบและกฎหมาย โดยมั่นใจว่าคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมจะไม่ถูกครอบงําเพราะมีอํานาจเหมือนศาลปกครอง พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า งานนี้เหนื่อยฟรี หากพิสูจน์ว่าตนบริสุทธิ์ก็จะกลับมาเป็น รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 เช่นเดิม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews