ทุจริตแลกเงินสดรัฐไม่ตอบโจทย์หรือคนไม่พอ(click ดูวิดีโอ)
“การแลกสิทธิ์โครงการช่วยเหลือของรัฐบาล” ที่เราพบเห็นได้ตามโซเชี่ยลหรือตามร้านค้าทั่วไป มีตั้งแต่หัก % เริ่มที่ 5% ไปจนถึง 20% บางร้านมีโปรโมชั่น แลกวันนี้รับเงินพรุ่งนี้หัก % น้อยลงมาหน่อย บางคนทำแบบโจ่งแจ้ง รับแลกยอดวันละแสนบาทอัพ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่โครงการคนละครึ่งเฟสแรก จนมาถึงเดือนมีนาคมนี้ และดูเหมือนว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้
จนมาถึงโครงการเราชนะและม33เรารักกัน จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบแบบจริงจัง พร้อมเอาผิดทางกฎหมายและตัดสิทธิ์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ก็ดูเหมือนว่า คนเหล่านั้นยังไม่เกรงกลัวความผิด
บางคนอ้างว่า นี่คือสิทธิอันชอบธรรม เพราะเมื่อได้รับพวกเขาจะใช้อย่างไรก็ได้ บางคนเดือดร้อนหวังได้เงินเยียวยาไปใช้จ่ายส่วนอื่น แต่เมื่อรัฐยืนยันไม่จ่ายเป็นเงินสด จึงมีความจำเป็นต้องไปแลกเพื่อมาใช้จ่าย ใช้หนี้ หรือไปแก้ไขปัญหาให้กับตัวเองในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 หรือว่ารัฐควรต้องกลับไปใช้แนวทางเดียวกับ “เราไม่ทิ้งกัน”
นายบรรชา ประสินธิ์สันต์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงประเด็นดังกล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการช่วยประชาชน แรงงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง ควรกำหนดนโยบายการช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินสด แทนการจ่ายเงินผ่านแอปเหมือนในปัจจุบัน เพราะบางคนเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ไม่มีความรู้ ไม่มีสมาร์ทโฟน อาจทำให้เสียเปรียบและพลาดการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ
ขณะที่นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มองเห็นต่างจากเรื่องนี้ โดยปัญหาของการพบกลุ่มคนนำสิทธิ์จากโครงการที่รัฐช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการจ่ายผ่านแอป แต่กลับนำไปแลกเป็นเงินสดนั้น สาเหตุของเรื่องนี้คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนซื้อและคนขายสิทธิ์ แต่รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายควรเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหา ให้กระบวนการใช้จ่ายกลับมาตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก
โดยการใช้จ่ายผ่านแอป ข้อดี คือ รัฐสามารถตรวจสอบเส้นทางการใช้จ่ายได้ แต่หากเปลี่ยนไปใช้การจ่ายเงินสดแทน จะทำให้การตรวจสอบยากขึ้น เดิมที่รัฐตั้งเป้าว่า ให้ประชาชนนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าลดค่าครองชีพ แต่คนอาจกลับนำเงินที่รัฐให้ไปซื้อของที่ไม่จำเป็น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ นำไปชำระหนี้แทน และการจ่ายเงินสดให้กับประชาชนถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
สุดท้ายนี้เราคงต้องมาติดตามว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เงินที่คิดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคัก และตัวเลขจากกระทรวงการคลังที่มีการประเมินว่า เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วหลักแสนล้านจะเรียกพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนการที่คนต้องเอาสิทธิ์ที่ได้รับไปแลกเป็นเงินสด เพราะด้วยความจำเป็น ต้องการนำเงินไปใช้หนี้ หรือเหตุผลต่างๆมากมาย แต่เรื่องนี้อาจเป็นการชี้ช่องโหว่เตือนรัฐบาลว่า ต้องวางมาตรที่รัดกุมมากกว่านี้ ตอบโจทย์ปชช.ได้มากกว่านี้ และถ้ายังปล่อยเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ อาจต้องเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “ร้านค้าชนะ”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news