ศก.เสี่ยง รัฐบาลเร่งโด๊ป ซัดศึกดอกเบี้ยแบงก์ชาติ
จับสัญญาณเศรษฐกิจไทยหลัง กกร. หรือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2567 ลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 2.45หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 2.2-2.7 จากเดิมคาดขยายตัวร้อยละ 2.8-3.3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสำนักเศรษฐกิจต่าง ๆ
หลังมองว่าภาคการส่งออกไทยปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยลงราวร้อยละ 0.5-1.5 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวโต ร้อยละ 2-3 ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ กดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย ในไตรมาส 1 ปี 2567 หดตัวลง
โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มีความเห็นต่อเรื่องเศรษฐกิจ ว่าเศรษฐกิจไทยเสี่ยงขยายตัวต่ำ แต่ความคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้น BOTTOM OUT ไปแล้ว ยังมีมุมมองที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ระยะข้างหน้าเชื่อว่านโยบายการเงิน-การคลัง จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเพื่อมุ่งเป้าให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แบบไม่สะดุด โดยภาครัฐมีแผนอัดนโยบายต่าง ๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567,โครงการ DIGITAL WALLET แจกเงิน 10,000 บาท ,การส่งเสริม การลงทุนภาคเอกชน เป็นต้น
และสำหรับเรื่องการส่งออกของไทยนั้น สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” ถึงเรื่องดังกล่าวโดยอดีตรัฐมนตรีฯคลังสุชาติ มองว่า การส่งออกของไทยที่ลดน้อยลงเป็นเพราะค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศของโลกเพราะฉะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ควรที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติที่มีความเห็นต่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ยอมรับว่า ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท.มองการส่งออกของไทยปีนี้ ว่า สรท. คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกรวมทั้งปี 2567เติบโตที่ร้อยละ 1-2 แต่มีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก และต้นทุนภาคการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับตัวเป็น 400 บาทต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
จึงต้องการให้ภาครัฐปรับค่าแรงโดยต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้างโดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมเพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศจะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้
ซึ่งในเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ล่าสุดมีการเปิดเผยจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ในฐานะประธาน กกร.บอกว่า กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพร้อมกันนี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัด ถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของรัฐบาลเศรษฐาอย่างใกล้ชิดรวมถึงประเด็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันระหว่าง แบงก์ชาติ และ รัฐบาล เพิ่มเติมเข้ามาทำให้เกิดกระแสเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ในการดำเนินนโยบายทางการเงินสภาวะการดังกล่าว นักวิเคราะห์ มองว่า อาจนำมาซึ่งประเด็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทย PERFORM ได้ยากขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews