อ่วมหนี้ รถถูกยึดพุ่ง เร่งรัฐคลอดนโยบายเรือธง
“หนี้ครัวเรือน” ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
จากข้อมูลของเครดิตบูโร ระบุว่า ภาพรวมหนี้เสียในครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยดูได้จากข้อมูลรอบ 5 เดือนแรก NPL อยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% หนี้เสียสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 218,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4%และหนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 67,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่เริ่มค้างชำระ 1-3 เดือน อยู่ประมาณ 680,000 ล้านบาท
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น โดย “นายสุรพงษ์” กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปีนี้หนักกว่าปีที่ผ่านมา ล่าสุด จำนวนรถยนต์ที่สถาบันการเงินยึดมานั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถกะบะ
“ปีนี้จะหนักกว่า เพราะว่าปีที่แล้ว ยึดรถมาเยอะ เห็นว่าตอนนี้ที่ส่งไลน์กันมาเมื่อไม่กี่วันนี้ ก็มีข่าวว่ายึดรถกันเยอะมากขึ้น อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ทำให้พวกสถาบันการเงิน ก็มีความเข้มงวดระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์กระบะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ซื้อไปเพื่อทำมาหากิน แล้วก็เปอร์เซ็นต์ที่จะซื้อผ่อนตั้ง 80%”
“นายสุรพงษ์” กล่าวด้วยว่า วันนี้ยอดการถูกปฏิเสธขอสินเชื่อรถยนต์มีอัตราที่สูงมากคือ 50% ใกล้เคียงกับการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพราะสถาบันการเงินมีการข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นอันเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
“ก็เห็นบอกว่า 50% ก็พอๆกับทางด้านการอนุมัติสินเชื่อพวกอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้น 2 อุตสาหกรรมนี้ ก็คือทางด้านอสังหาริมทรัพย์ กับทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีซัพพลายเชนค่อนข้างยาว และเยอะมาก ถ้า 2 ตัวนี้ยังไม่เติบโต ก็คือยังไม่มีการซื้อมากกว่าปีที่แล้ว เดือนต่อเดือน ก็ยังเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของเราจะโตได้ถึง 3% ไหม”
ดังนั้นนอกจากแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาลที่จะต้องจับตาแล้ว “นายสุรพงษ์” กล่าวว่า ต้องติดตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นเดียวกัน ว่าจะผลักดันให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่ หลังจากตั้งเป้าเติบโตที่ 3% รวมถึงการชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนไทยให้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เดินสายไปพบปะนักลงทุน
“อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของเราในไตรมาสที่ 1 ก็โตต่ำมาก อยู่ที่ 1.5% และตอนนี้ก็มีการคาดการณ์ว่าจะโต 2.5% แต่ทางภาครัฐบาลก็บอกว่าจะโตให้ถึง 3% ก็ดูว่ามีโอกาสจะเป็นไปได้ไหม ก็จะต้องดูเรื่องของการลงทุนต่อไปว่า ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไปชักชวนให้รายใหญ่ๆ ของโลกมาลงทุนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะตอนนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็มีผลใช้แล้วก็หวังว่าเรื่องของการกระตุ้นการลงทุน และก็กระตุ้นเศรษฐกิจก็คงจะเริ่มทำได้ รวมทั้งงบประมาณ 2568 ก็คงจะทันใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ถ้าทำให้เกิดความล่าช้าก็จะเหมือนกับงบประมาณปี 2567 ก็จะทำให้งบรายจ่ายการลงทุนอะไรต่างๆ ของภาครัฐก็จะชะลอไป อันนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของเราก็ไม่ได้โตตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้”
อย่างไรก็ตามมีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง “คนไทยกับความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.80 ระบุว่า ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน เป็นปัญหารุนแรง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.07 มีหนี้สินส่วนตัวและคิดเป็นประมาณ 20 – 50% ของรายได้ต่อเดือน
ทั้งนี้ ประธานสวนดุสิตโพล “นางสาวพรพรรณ บัวทอง” กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความยากจนหนี้สิน และการเลิกจ้างงานเป็นปัญหาที่รุนแรงและต้องแก้ไขเร่งด่วนด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องและผลกระทบจากโควิด-19 การมีหนี้สินส่วนตัวที่สูงและการเลิกจ้างงานทำให้ประชาชนรู้สึกถึงภาระทางการเงินที่หนักหน่วง รัฐบาลจึงควรเน้นการสร้างงาน เพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการทำงานและจ้างงาน ผลักดันนโยบายเรือธงที่หาเสียงไว้โดยเน้นผลลัพธ์ของโครงการ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมช่วยให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถจัดการกับหนี้สินได้ดีขึ้น
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตานโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับย่อมเชื่อมโยงกับความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews