พรรคประชาชน ชื่อนี้มีความหลัง…(ที่พักใจคนช้ำ)
ก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแค่ 2 วัน สส.ของอดีตพรรคก้าวไกล ก็เข้าสังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล อย่างพร้อมเพรียง ไม่มีใครแตกแถว ไม่มีใครเป็นงูเห่า 143 คนอยู่กับครบถ้วน
พร้อมสานต่อภาระกิจที่ยังทำไม่สำเร็จ จัดประชุมใหญ่ เปลี่ยนชื่อพรรค จาก”ถิ่นกาขาวชาววิไล” พรรคการเมืองเล็กๆ ที่ตั้งมาเมื่อปี พ.ศ.2555 และยังไม่เคยมี ส.ส.ในสังกัดเลย เป็น “พรรคประชาชน” เปลี่ยนโลโก้พรรคใหม่เป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมพีระมิดหัวกลับ แสดงถึงการยกประชาชนผู้เป็นรากฐานของประเทศไว้เหนือผู้ปกครอง เส้นประกบสามเส้น สื่อถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เปลี่ยนอุดมการพรรคใหม่
ภายใต้คติพจน์ “โดยประชาชน เพื่อประชาชน สร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” มี “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำคนใหม่ เป็นรองหัวหน้าพรรค”ศรายุทธ ใจหลัก” อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อนรัก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นเลขาธิการพรรค คอยขับเคลื่อนเจนเนเรชั่นที่ 3 ของพรรคสีส้ม
ต่อจาก “อนาคตใหม่และ ก้าวไกล” ที่พ่ายแพ้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังการเปิดตัววันแรกอย่างเป็นทางการ จากก้าวไกล กลายสภาเป็นพรรคประชาชน มีผู้สนับสนุนสมัครเป็นสมาชิกทันทีกว่า 2.5 หมื่นคน มีเงินบริจาคเข้าพรรคกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณเริ่มต้นว่า “พรรคประชาชน” ยุคใหม่ได้เดินหน้าแล้ว
ในอดีตประเทศไทย เคยมีพรรคการเมืองชื่อ “ประชาชน”มาแล้ว โดยเกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2526 จดทะเบียนครั้งแรก ในชื่อ พรรครักไทย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ “พรรคประชาชน”ในปี พ.ศ.2530 มีสีน้ำเงินเป็นสีประจำพรรค มีคำขวัญ ว่า “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” และในปี พ.ศ. 2531 ได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อ “กลุ่ม 10 มกรา”ของ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายเข้ามาสังกัด
เพราะอกหักในการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ “เฉลิมพันธ์” กลายเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน โดยมี “วีระ มุสิกพงศ์”หรือ “วีระกานต์” ในปัจจุบันแกนนำคนเสื้อแดง ที่ติดสอยห้อยตามกันมา เป็นเลขาธิการพรรค และมี สส.ชื่อดังหลายคนมาร่วมงาน อาทิ “อนันต์ ฉายแสง” คุณพ่อ ของ “จาตุรนต์”,สุรใจ ศิรินุพงศ์,ถวิล ไพรสณฑ์,พีรพันธุ์ พาลุสุข,สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ และ “กริช กงเพชร” เป็นต้น ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชน ได้สส.19 คน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปักษ์ใต้ และร่วมรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ จากนั้นในปี พ.ศ.2532 พรรคประชาชน พร้อมด้วยพรรคกิจประชาคม และพรรคก้าวหน้า ยุบตัวเองไปรวมเข้ากับพรรครวมไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคเอกภาพ”
โดย “เฉลิมพันธ์” ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคเอกภาพและนั่นคือการสิ้นสุดพรรคการเมืองที่ชื่อ “ประชาชน” ในเวอร์ชั่นแรก ส่วนในเวอร์ชั่นใหม่ พรรคประชาชน ยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนมาจากถิ่นกาขาว หลังรองรับ 143 สส.ของอดีตพรรคก้าวไกล จะขับเคลื่อนและผลักดันการทำงานของพรรคประชาชน ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีคดี จริยธรรม ของ 44 สส. ที่ต่อเนื่องมาจากคดียุบพรรคเป็นอุสรรคสำคัญ
ดังนั้น “พรรคประชาชน” จะมีอายุยาวนานกว่า “พรรคประชาชน” ที่เคยเป็นที่พักใจ คนอกหักในยุคก่อนมากน้อยเพียงใด ผลงานภายใต้การนำของ “ณัฐพงษ์-ศรายุทธ-ศิริกัญญา” และเพื่อน สส.ที่พร้อมใจกันตามมาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยเฉพาะคำว่า “ยิ่งยุบ ยิ่งโต จะเป็นจริงหรือไม่ เวลาเท่านั้น จะเป็นผู้ให้คำตอบ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews