Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ไทยยกระดับคุมเข้ม “ฝีดาษลิง” เฝ้าระวังประเทศกลุ่มเสี่ยง

สถานการณ์ฝีดาษวานร ที่กำลังพบการระบาดจากทวีปแอฟริกามาในแถบประเทศเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งกรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยฝีดาษลิงต้องสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 คนแรกในไทย เป็นชาวยุโรปเดินทางมาจากประเทศคองโก

 

 

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ที่ระบาดใน 10 ประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หลังจากโรคแพร่กระจายจากการระบาดประเทศคองโก มีผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน ไปตามประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก

 

 

สถานะ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ คือระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว

 

 

 

สำหรับโรคฝีดาษลิงแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือสายพันธุ์แอฟริกากลาง (Clade 1) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (Clade 1B ) การแพร่ระบาดเกิดจากการสัม ผัสใกล้ชิด การสัมผัสผิวหนัง พูดคุยหรือหายใจใกล้ชิดกัน รวมถึงเพศสัมพันธ์ ไวรัสจะทำให้มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด เกิดแผลพุพองตามร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

 

 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย และเฉพาะในช่วงปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 ส.ค.พบผู้ป่วยยืนยัน 140 คน ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาที่ WHO ประกาศ คือ สายพันธุ์ย่อย Clade 1B แต่ล่าสุด พบสายพันธุ์ย่อย Clade 1B รายแรก เป็นชายชาวยุโรป ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

 

 

ขณะที่ประเทศไทยยกระดับการป้องกันโรคฝีดาษลิง เนื่องจากมี 6 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีการระบาดในขณะนี้ ได้แก่ คองโก ยูกันดา รวันดา บุรุนดี เคนยา โกตดิวัวร์ อยู่ในพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง ทางด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค จึงกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

 

 

ผู้โดยสารที่เดินทางจาก 6 ประเทศข้างต้น จะได้รับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร

 

 

หากพบผู้เดินทางมีผื่น หรืออาการเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรค รอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที

 

 

หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเป็นโรคฝีดาษลิง จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร กรณีพบผู้เดินทางมีผื่นชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อ ได้ทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube