ถอดบทเรียนมหาอุทกภัยเชียงราย น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 80 ปี
สถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จ.เชียงราย ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจแนวชายแดน ไทย-เมียนมา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
โดยอุทกภัยดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากอิทธิพลพายุ ยางิ ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือของไทย มีฝนตกหนักมาก และทำให้ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดมวลน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ชนิดที่ประชาชน หนีออกมาไม่ทัน ติดค้างอยู่ภายในบ้านเรือนจำนวนมาก และประชาชนมีการโพสต์ข้อความทางสื่อโซเชียลมีเดีย ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ช่วยอพยพออกจากพื้นที่ แต่ด้วยกระแสน้ำที่ไหลเชียวและระดับน้ำที่ท่วมสูง แม้รถบรรทุกขนาดใหญ่ก็เข้าไปในพื้นที่ไม่ได้
แต่ก็มีความพยายามของหน่วยกู้ภัยจากหลายหน่วยงานรวมถึงภาคเอกชน และอินฟลูเอนเซอร์คนดัง ระดมสรรพกำลัง ประสานความร่วมมือ เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ติดอยู่ในบ้านเรือน รวมถึงสัตว์เลี้ยง ทยอยออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ถือว่าเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ จ.เชียงราย ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงระบบการเตือนภัย ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามแผนการเผชิญเหตุที่หน่วยงานภาครัฐมีการวางแผนไว้หรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย เอง ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง และครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 80 ปี
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ มาจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ ซึ่งในช่วง 2 วัน ก่อนหน้าน้ำท่วม นั้น มีฝนตกลงมาอย่างหนัก มากกว่า 300 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านก็มีฝนตกหนัก และในพื้นที่ก็ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ที่จะกักเก็บน้ำไว้ ทำให้ฝนที่ตกลงมา จะไหลมาลงตามลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยไม่มีอะไรขวางกัน จึงกลายเป็นมวลน้ำป่าก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรง
หลังประเมินสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ว่า พื้นที่ใดเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ก็ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าให้หน่วยงานในพื้นที่ไปแล้ว อย่างน้อย 3 วัน กรณีที่สังคมมองว่า การช่วยเหลือน้ำท่วม จ.เชียงราย ล่าช้านั้น ต้องชี้แจงว่า น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย เป็นลักษณะของน้ำป่า ที่หลากลงมาอย่างรวดเร็ว ทุกภาคส่วนพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่แล้ว
แต่น้ำมามากและเป็นพื้นที่กว้าง อีกส่วนหนึ่งประชาชนอาจคิดว่า น้ำอาจจะท่วมเหมือนครั้งก่อน คือท่วมไม่มาก จึงไม่ได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ไว้ ทั้งนี้ ในส่วนการระบายน้ำลงแม่น้ำโขง ของแม่น้ำสายและแม่น้ำกกนั้น จะต้องใช้เรือช่วยผลักดันน้ำ ให้ระบายได้เร็วขึ้น คาดว่าในพื้นที่ จ.เชียงราย ต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ สถานการณ์ถึงจะคลี่คลาย
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า การประกาศเตือนภัยบ้านเรามีปัญหา ไม่สามารถเตือนภัยได้ในเชิงพื้นที่ ว่าจะฝนจะตกมากน้อยแค่ไหน น้ำจะท่วมกี่เซนติเมตร หรือกี่เมตร
ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว ระบบเตือนภัยบ้านเราก็เตือนแค่ฝนตกหนัก หรือตกหนักมาก แต่ไม่เคยมีหน่วยงานไหน เตือนได้เลยว่าน้ำจะท่วมตรงไหน คำแนะนำ คือ หน่วยงานภาครัฐ หากเตือนแล้วว่าฝนจะตกมาก ก็ต้องแสดงแผนที่รับมือน้ำท่วม ให้ประชาชนรับทราบว่า ปริมาณน้ำจะผ่านเส้นทางไหน หากรุนแรงต้องสั่งการอพยพและย้ายของขึ้นที่สูงทันที
อย่างไรก็ตาม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และ สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำ ในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมา พาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน
ทำให้ประเทศไทย จะมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 14 – 18 กันยายน นี้ ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำโขง
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโข ง รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นบริเวณดังกล่าว ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews