Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

บาทแข็ง ลดดอกเบี้ย เอื้อกลุ่มทุน – เจ้าสัว

ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับรัฐบาลนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะล่าสุดค่าเงินบาททหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 3%

 

 

 

 

แน่นอนว่า เมื่อเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย แต่อีกด้านหนึ่งภาคธุรกิจมองว่า เป็นผลดีต่อการนำเข้า โดยเฉพาะน้ำมันที่จะมีราคาถูกลงโดย “ดร.ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น มาจากการเก็งกำไร ขณะที่อีกมิติหนึ่งก็สะท้อนได้ว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย

 

 

 

“เวลาเราพูดข้างเดียว มันเหมือนกับบาทเลวร้ายมากที่มันแข็ง จริงๆการที่แข็งมันสะท้อนเศรษฐกิจเราความเชื่อมั่นสกุลเงินของเรา อันนี้ต้องเข้าใจ ส่วนหนึ่งมันเป็นการเก็งกำไรด้วย กระทบส่งออกไหม ก็กระทบ แต่มันกระทบไม่เยอะ เพราะผมก็มีธุรกิจนี้ด้วย อย่าลืมว่าเราไม่ได้แข็งคนเดียว เพื่อนบ้านมันก็แข็งด้วย มันก็ไม่ได้เสียเปรียบกันมากเท่าไหร่นักแต่เราอาจจะเสียเปรียบเพราะว่าเราแข็งกว่าเค้าหน่อยนึงบ้าง”

 

 

 

“ดร.ธนิต” กล่าวอีกว่า เวลานี้รัฐบาลไม่ควรที่จะมาทะเลาะกับ ธนาคารแห่งประเทศ หรือ ธปท.เพื่อจะกดดันให้แบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่รัฐบาลควรที่จะร่วมมือกับแบงก์ชาติในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และมองว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ภาครัฐต้องการนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือกลุ่มทุนและเจ้าสัว เพราะทุกวันนี้ ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กู้เงินจากนอกระบบ เพราะธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ให้อยู่แล้ว

 

 

 

 

“โดยหวังว่าลด 2% ลด 0.25% ลด 0.5% แล้วดอกเบี้ยถูกชาวบ้านจะได้อานิสงค์ มันรายใหญ่ ลดดอกเบี้ยแล้ว จะได้อานิสงส์ แต่จากรายเล็กเอสเอ็มอี ดอกเบี้ยจะขึ้น 0.5% หรือลงมา 0.5% มันไม่ได้ทำให้เขาได้เงิน เพราะแบงค์เค้าไม่ปล่อย รายใหญ่กู้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน พวกนี้เค้าได้ประโยชน์”

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทย ยืนยันว่า เมื่อเฟดลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ไทยจะต้องปรับลดตาม โดยการพิจารณาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น จะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ 2.เรื่องอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายหรือไม่ และ 3.เสถียรภาพการเงิน ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เห็นอะไรที่ทำให้ภาพการประเมินในเรื่องของเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากที่มอง

 

 

 

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มีความเห็นกรณีที่หลายประเทศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อมาช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศตนเองที่มีโอกาสเสี่ยงเกิด RECESSION โดยมองว่า หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทย จะเห็นว่าโอกาสการเกิด RECESSION นั้นต่ำ และยังลดลงจากต้นเดือน สิงหาคม2567 อีกด้วย

 

 

 

เนื่องจากประเทศไทยเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีนโยบายกระตุ้นของภาครัฐฯ ที่จะเข้ามา ในรยะถัดไป อาทิ แจกเงิน 10,000 บาทให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-บัตรคนพิการ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ประเด็นดังกล่าวคาดหนุนให้ GDP ไทยปีนี้มีโอกาสแตะ 3% ซึ่งหาก GDP ปีนี้โต 3% จริง GDP ไตรมาส 3 และ 4 จะต้องเติบโตสูงถึง 4.1%YOY ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกัน ของปีก่อนอยู่มาก โดยเฉพาะไตรมาส 4

 

 

 

จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการดำเนินนโยบายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองเรื่องค่าเงินบาทและการประชุมของบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรกซึ่งมีนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร”เป็นประธาน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการเงินดิจิทัล เฟส 2 และภายใน 2 สัปดาห์นี้คาดจะมีความคืบหน้าในการนำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” กลับมานั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube