เกาะกูด เป็นของไทย MOU44 ไม่เสียเปรียบจริงหรือ?
พื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด จ.ตราด กลายเป็นประเด็นร้อน หลังรัฐบาล “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” มีแผนกลับมาเจรจาใช้ผลประโยชน์ร่วมกันของก๊าซธรรมชาติ ระหว่างไทย-กัมพูชา จัดการพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร จนมีข้อกังวลว่าไทยจะเสียดินแดนจากหลายฝ่าย
โดยในอดีต กรณีเกาะกูด สมัย รัฐบาล”ทักษิณ ชินวัตร” เคยมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกันแล้ว และมีเสียงต่อต้านเช่นกัน และนำมาซึ่ง MOU 2544 ต่อมายุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พยายามยกเลิก MOU 2544 แต่ไม่สำเร็จ และเมื่อเข้าสู่ยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ความพยายามเจรจาเดินหน้าต่อกลับมาอีกครั้ง
แต่ก็ไม่คืบหน้า กลายเป็นเรื่องที่ค้างคามา จนถึงตอนนี้ “นายกฯอิ๊งค์” ก็ขุดเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาอีกครั้ง และเริ่มมีเสียงต่อต้าน “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นคนแรกๆที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยระบุ การเจรจาแบ่งเขตแดน แบ่งผลประโยชน์ตาม MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล
ย่อมมีข้อน่าสงสัยในเจตนาและความโปร่งใสของรัฐบาล ว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศจริงหรือไม่ หรือสนใจเพียงผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุนเท่านั้น ทำให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ต้องออกมาชี้แจง ว่าเกาะกูดเป็นของไทย ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส จึงไม่ห่วงว่าจะเสียเกาะกูด และขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคแรกที่ขับในเรื่องนี้ อย่างชัดเจน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU44 ก่อนที่จะเสียดินแดน “ชัยมงคล ไชยรบ” สส.สกลนครระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พลังประชารัฐจะคัดค้าน MOU44 ที่มีความเสี่ยงจะทำให้เสียดินแดนเสี่ยงเสียอธิปไตยของชาติ และเสี่ยงเสียทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของประชาชน
โดยจะไม่ยอมเสียพื้นที่ไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ประเด็นการเจรจาผลประโยชน์ทางทะเลและพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด จึงกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อถูกพรรคการเมืองจับมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวคัดค้าน ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล จน “นพดล ปัทมะ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรมว.การต่างประเทศ ออกมาตอบโต้ ระบุถึงการเคลื่อนไหวจุดกระแส “เกาะกูด” ว่า เป็นความพยายามบิดเบือนข้อมูล หวังผลทางการเมือง ทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล
พร้อมยืนยันว่า MOU 44 ที่ลงนามโดย “สุรเกียรติ เสถียรไทย” รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด และเนื้อหาของ MOU 44 การเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทย และกัมพูชา ก่อนที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า จะให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลพูดได้ชัด จะทำให้เรื่องจบ ว่าพื้นที่ ที่มีข้อพิพาทอยู่จำกัดอยู่แค่ตรงไหน และไม่รวมเกาะกูด หากรัฐบาลไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อทั้งรัฐบาลเอง แต่ถึงอย่างไร การเจรจาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด ยังต้องรอความชัดเจน เพราะสิ่งสำคัญคือ การจัดการกับก๊าซธรรมชาติ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งถ้ามีการจัดการอย่างโปร่งใส จะทำให้มีงบประมาณมหาศาลเข้าสู่ประเทศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews