กมธ.มั่นคงสอบชั้น 14 “ทักษิณ”-ลุ้นทางออกประชามติ
ความเคลื่อนไหวที่รัฐสภาวันนี้ ยังคงมีกรรมาธิการชุดต่างๆ ประชุม โดยเฉพาะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ มีวาระพิจารณา ประเด็นการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ยืนยัน การส่งตัวรักษาเป็นไปตามกฎกระทรวง
ขณะเดียวกัน กรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพรบ.ประชามติ เตรียมใช้ช่องทางไปรษณีย์ให้ประชาชนร่วมออกเสียงทำประชามติชั้นครึ่ง เพื่อลดความแตกหักระหว่าง 2 สภา แม้ไม่ทันการเลือกตั้งในปี 2570
วันนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตรอดีต นายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มาชี้แจง
โดยมีผู้เข้าร่วมชี้แจง คือ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. พรรคประชาชน พลตำรวจตรี สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และนายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะที่ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่า จะมาชี้แจงแต่เมื่อถึงเวลาประชุม ไม่เดินทางมาและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อได้
สำหรับผู้ที่แจ้งว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ,พลตำรวจโทโสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโททวีศิลป์ เวชวิทารณ์นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แต่จะส่งเอกสารประกอบการพิจารณาภายหลัง
นายรังสิมันต์ ยืนยัน กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องนี้ หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำอะไรผิด ถือเป็นประโยชน์ที่ได้ชี้แจง จะอ้างกฎหมาย PDPA ไม่ให้ข้อมูลไม่ได้
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มประชุม พลตำรวจตรีสรวุฒิ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดรักษาของนายทักษิณ เพราะช่วงอยู่ระหว่างลาพักร้อน เตรียมเออร์รี่ฯ โดยยอมรับว่ามีผู้ต้องขังมารักษาตัว แต่ไม่ทราบว่ามีการบันทึกภาพหรือไม่
ด้านนายแพทย์วัฒน์ชัย ผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยืนยัน การส่งตัวรักษาเป็นไปตามกฎกระทรวงปี 2563 ซึ่งกรณีของนายทักษิณเป็นการส่งต่อจากเรือนจำไปที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยข้อมูลในส่วนนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดในที่ประชุมมีการซักถามกันไปมาและวนเวียน อยู่ในประเด็นเดิม ซึ่งผู้มาชี้แจงก็ไม่สามารถตอบข้อซักถามที่ละเอียดกับกรรมาธิการได้
ขณะเดียวกัน นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ เปิดเผยผลการประชุมว่า เพื่อลดความแตกต่างและความขัดแย้งระหว่างสส. และ สว. ทางคณะกรรมาธิการร่วมเตรียมใช้ช่องทางไปรษณีย์ให้ประชาชนร่วมออกเสียงทำประชามติแบบชั้นครึ่ง แม้ไม่ทันเลือกตั้งปี 70 จึงต้องรอลุ้นกับทาง สว.ว่าจะเห็นด้วยกัยแนวทางนี้หรือไม่ แต่ส่วนตัวห่วงเสียง สส. มากกว่า พร้อมยืนยัน จะได้ข้อสรุปทั้งหมดก่อนเปิดสภาแน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews