Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

โจทย์ใหม่ “อิ๊งค์” คุย “ทรัมป์” ดันศก.

 

 

จับตาท่าที่รัฐบาลไทยหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด นั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่

 

 

 

นั่นเพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก การออกมาตรการของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่านโยบายของ “ทรัมป์” จะเน้นการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ การกลับมาของนโยบาย AMERICAN FIRST อย่างเข้มข้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ

 

 

นักวิเคราะห์ ชี้ว่า การเดินนโยบายต่างๆ ของ “ทรัมป์” ที่ได้หาเสียงไว้นั้น น่าจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองผลกระทบในหลายมิติ เริ่มจากมิติของการค้าระหว่างประเทศ แนวทางการตั้งกำแพงภาษีของสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ น่าจะทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดัน ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ภาคการส่งออกของไทยชะลอตัว แต่ก็อาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต

 

 

และที่สำคัญการกลับมาของ AMERICAN FIRST อาจเสี่ยงทำให้สงครามการค้าจีน-สหรัฐ หรือ TRADE WAR ซึ่งต้องติดตามว่านโยบายต่างๆ จะเกิดขึ้นจริงและรุนแรงขนาดไหน

 

 

ด้าน IMF ประเมินว่า การใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าที่สูงมากของ “ทรัมป์” จะปรากฎขึ้นประมาณกลางปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง 0.8% ในปี 2568 และจะลดลง 1.3 % ในปี 2569 เนื่องจากการตั้งภาษีจะขัดขวางการเติบโตของการค้าโลก

 

 

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ถึงท่าทีของไทยต่อนโยบายการค้าและการลงทุน หลัง”โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้ง โดย “รศ.ดร.ปณิธาน” กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของไทยต่อสหรัฐนั้น รัฐบาลจะต้องคิดถึงประโยชน์ของประชาชนคนไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะต้องเตรียมตัวรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับอัตรากำแพงภาษีจากสหรัฐฯ

 

 

“คิดเอาผลประโยชน์ของไทยโดยเฉพาะคนไทยให้มากขึ้น กับการที่จะเข้าไปปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐกับรัฐบาลใหม่ในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าจะมีเวลาประมาณเดือนกว่าๆ ก่อนที่คณะทำงานแล้วก็รัฐมนตรีของรัฐบาลของสหรัฐฯจะเข้ารับตำแหน่งในปีหน้า แต่ว่าในขณะนี้ก็มีความชัดเจนพอสมควรอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือเรื่องเกี่ยวกับการปรับอัตรากำแพงภาษีหรือว่าภาษีต่างๆเพื่อที่จะหารายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐในขณะนี้ก็ชัดเจนค่อนข้างมากในหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นก็จะเตรียมตัวที่จะเตรียมรองรับผลกระทบ แล้วก็หาช่องทางใหม่ๆ ที่จะเข้าไปค้าขายกับสหรัฐแล้วก็อาจจะมีการเจรจาทางการค้าเพิ่มขึ้น อันนั้นเป็นประเด็นแรกที่ขณะนี้หลายๆ ประเทศก็เตรียมตัวแล้ว ประเด็นที่ 2 ก็คือว่า อาจจะมีการลงทุนใหม่ๆ หลายอย่างยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯอาจจะลดหรือถอนตัวการลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและเปลี่ยนไปขุดเจาะหาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งออกตรงนั้นก็อาจจะเป็นโอกาสก็คงจะต้องเตรียมตัวที่จะเจรจาเพื่อที่จะเข้าไปซื้อสินค้าสหรัฐบางอย่างเพิ่มมากขึ้น บางอย่างอาจจะแพงขึ้นต้นทุนของเรา บางอย่างอาจจะถูกลง เช่นเรื่องของพลังงานอันนี้ก็เป็นอีกประเด็นนึงต่อเนื่องมาจากเรื่องกำแพงภาษี”

 

 

นอกกจากนี้ “รศ.ดร.ปณิธาน” ยังได้กล่าวถึงนโยบายของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ที่เชื่อมโยงกับสงครามด้วยว่า ผู้นำสหรัฐคนใหม่พยายามทำให้ชาวโลกเห็นว่า สงครามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะลดลง แต่การค้าและการลงทุนจะเข้มข้นมากขึ้น

 

 

“ส่วนที่ 3 ยังไม่ชัดเจนแต่ว่าคงมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ความขัดแย้งที่สหรัฐฯอาจจะลดระดับหรือถอนตัวอย่างเช่นที่ยูเครน อาจจะชัดเจนกว่าตะวันออกกลาง แล้วก็อาจจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอเชียอย่างเช่นเรื่องของจีนในทะเลจีนใต้ แล้วก็เรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวออกมาแล้วว่าอาจจะมีการจัดทีมเข้าไปพูดคุยในเรื่องพวกนี้ โดยภาพรวมสหรัฐต้องการให้ชาวโลกเห็นว่าระบบโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้น สงครามความขัดแย้งจะลดลงแต่ว่าทางการค้าทางการลงทุนจะเข้มข้นขึ้น ทั้งนี้เพื่อรักษานโยบายหลักของสหรัฐ ในเรื่องของสหรัฐฯต้องมาก่อน ในภาพรวมไทยก็ยังมีโอกาสไทย แล้วก็ไทยยังความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 พรรค เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ยากนัก แต่ว่าต้องทำงานอย่างเข้มข้นและรวดเร็วขึ้นครับ”

 

 

ขณะที่ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มองว่า การเมืองโลก ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยเน้นการรักษาความเป็นกลางเพื่อให้ไทยสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับทั้งสองประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

 


 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube