Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

14วันวัดใจบิ๊กตู่สู้โควิดเซฟศก.

14วันวัดใจบิ๊กตู่สู้โควิดเซฟศก.(click ดูวิดีโอ)

ไม่ล็อกดาวน์-ไม่เคอร์ฟิว คือคำแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศชัดถึงแนวทางการป้องกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แน่นอนว่า โควิด-19 รอบนี้ หนักหนาสาหัส นั่นเพราะ จำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮแบบวันต่อวัน ล่าสุด 19 เม.ย. ติดเชื้อใหม่อีก 1,390 คน โดยตั้งแต่วันที่ 1 – 19 เม.ย.มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 14,879 คน

นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังต้องติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อที่เบื้องต้นเป็นสายพันธุ์จากอังกฤษ แต่เมื่อการระบาดเร่งตัวขึ้นไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศในวงกว้างเชื้ออาจกลายพันธุ์เป็น “สายพันธุ์ไทย” ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะนำเข้ามาฉีดอีกด้วย ดังเช่นการระบาดในอินเดียที่กลายเป็นจุดระบาดใหม่ของโลก มีการกลายพันธุ์ของเชื้อเป็นอุปสรรคต่อวัคซีน

ขณะที่ท่าทีของ ศบค. ใช้มาตรการคุมเข้มเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นจะปรับเพิ่มมาตรการตามสถานการณ์ ซึ่งมาตรการที่ว่านี้ไล่เรียงตั้งแต่พื้นที่สีแดงราว 18 จังหวัด ร้านอาหารทั้งหมดรับประทานได้ถึง 3 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงกำหนดเวลาเปิดปิดที่ตี4 ถึง 5 ทุ่ม

ขณะที่พื้นที่สีส้มราว 59 จังหวัดร้านอาหารรับประทานได้ถึง 5ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ 24 ชั่วโมง ส่วนศูนย์การค้าทั้งประเทศกำหนดปิดภายใน 3 ทุ่ม ส่วนเครื่องดื่มมึนเมาในร้านอาหารงดขายทุกกรณี

มาตรการรัฐที่ออกมานี้ สร้างความมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนกับการคุมโควิด-19 ให้อยู่หมัด ซึ่งในมุมมอง รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย “นายธนิต โสรัตน์” บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่ามาตรการเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่เป็นของใหม่ เป็นแค่การขอความร่วมมือ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ นั่นคือ เพิ่มความเข้มงวดกับสถานประกอบการในการคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการ เพราะทุกวันนี้มีความหย่อนยานมาก หรือแม้กระทั่งรถโดยสารสาธารณะที่ยังมีความแออัดอยู่

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ว่า หากการระบาดคลี่คลายลงในเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ผลกระทบทางการบริโภคในประเทศไม่น่ารุนแรงเท่าการล็อกดาวน์ปีก่อน แต่ทั้งนี้กำลังปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าอาจขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6% ซึ่งจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการป้องกันโควิดนี้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว 2. มีมาตรการชดเชยผู้ขาดรายได้ 3. มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางระบบสาธารณะ 4. แบงก์ชาติจะมีมาตรการเพิ่มเติมในการลดภาระดอกเบี้ย พร้อมเร่งอัดฉีดเงินกู้ให้ธุรกิจ อีกทั้งอาจเห็นการต่อมาตรการพักชำระหนี้

จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้ม 2 สัปดาห์ ของศบค. รวมถึงการเกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งถ้าเกิดขึ้น จะไม่เป็นผลดีต่อประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่จะบอบซ้ำอีกอย่างแน่นอน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube