ร้านอาหารเจ็บหนักไม่ปิดเหมือนปิด (click ดูวิดีโอ)
ไม่ได้สั่งปิด แค่ห้ามนั่งในร้าน ประกาศล่าสุดของทาง ศบค.ชุดใหญ่ยกระดับมาตรการคุมเข้มโควิด-19 มีผลมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยิ่งเห็นผลชัดเจนขึ้น แม้คำสั่งดังกล่าว จะครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบไปด้วย กทม. ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ และ สมุทรปราการ แต่ถือเป็น 6 จังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นจังหวัดชี้ความเชื่อมั่นของประชาชนว่าจะกล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจกันหรือไม่ ห้ามนั่งในร้านอาหารทำได้แค่สั่งกลับบ้าน เป็นอีกมาตรการที่จำกัดพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนโดยปริยาย
ซึ่ง นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากคำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ระลอก 2 เจอระลอก 3 เข้าไป บางส่วนจำเป็นต้องลดพนักงานในส่วนบริการลง เด็กเสิร์ฟลูกจ้างรายวันตกงานทันที เพราะเป็นส่วนแรกที่ไม่จำเป็นหากไม่มีลูกค้านั่งในร้าน
ในขณะที่บริการส่งสินค้าถึงบ้าน หรือ บริการเดลิเวอรี่ ไม่สามารถทำได้กับร้านอาหารทุกประเภท เพราะบางร้านอาหารขายบรรยากาศ ห้ามนั่งในร้านก็เหมือนโดนสั่งปิดกิจการโดยปริยาย หรือร้านอาหารบางชนิดไม่เหมาะกับการสั่งกลับไปรับประทานที่บ้าน ยอดขายจะหายไปทันทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
รู้ทุกเรื่องเข้าใจทุกทาง เพื่อทำให้ทุกฝ่ายยังอยู่ได้ ทางสมาคมจึงมีแนวทางที่จะเสนอ ศบค. โดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาผ่อนคลายหรือออกมาตรการเพิ่มเติม สำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเพราะยอดขายเวลานี้หายไปเกือบ 90% ความช่วยเหลืออาจอยู่ในรูปของการพักหนี้สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้มีเวลาในการลืมตาอ้าปากฟื้นกิจการ โดยไม่ต้องแบกภาระหนี้ไว้ หรือการช่วยในเรื่องของการจ่ายค่าแรงสำหรับพนักงานผ่านกองทุนประกันสังคม
ทำให้ไม่ต้องปลดพนักงานถาวร เพราะในช่วงที่ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านนั้น ผู้ประกอบการบางรายได้ปิดกิจการชั่วคราว เพราะรายรับไม่คุ้มกับต้นทุน แม้เชื่อว่าการสั่งห้ามดังกล่าวจะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นานนัก หรือภายใน 14 วัน แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนหากนานกว่านั้นผู้ประกอบการรายย่อยนับแสนรายและอีกหลายฝ่ายที่อยู่ในสายการผลิตจะได้รับผลกระทบมากขึ้น
ตัดสินใจกันอย่างไร ให้สมดุลทั้งดูแลเศรษฐกิจประเทศและแก้ไขวิกฤตโควิด-19 คงต้องเร่งทำเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพราะหากนานกว่านั้น หมายถึงเศรษฐกิจอาจย่ำแย่จนกู่ไม่กลับ ถึงจะมีการส่งออกช่วยพยุงเพราะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่ยังถือเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะส่งออกพึ่งพาเศรษฐกิจโลก หากเกิดการพลิกผัน นั่นหมายถึงประเทศไทยจะขาดปัจจัยในการประคองเศรษฐกิจประเทศทันที
การดูแลให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวจากการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนจากกำลังซื้อที่มีมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำควบคู่กับการฟื้นการส่งออก ที่ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4 เพราะในช่วงเดือนมีนาคม ขยายตัวถึงร้อยละ 8.47 และการส่งออกในเดือนเมษายนคาดการณ์ว่าจะยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวกได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news