โควิดศก.โคม่าเม.ย.วูบ2แสนล.โปรฯแป้ก
โควิดศก.โคม่าเม.ย.วูบ2แสนล.โปรฯแป้ก(click ดูวิดีโอ)
เกิดปรากฏการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 22 ปี 7 เดือน จากผลการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย ทรุดตัวลงอยู่ที่ระดับ 46.0 ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะผ่านมาหลายวิกฤตความเชื่อมั่นก็ไม่เคยตกต่ำขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตโควิด-19 นักหนาเกินไป โดนซ้ำเข้าหลายระลอก ทางออกในการแก้ไขปัญหายิ่งยากขึ้น
ปัญหายังไม่คลี่คลาย การเยียวยาก็ต้องเร่งทำเพื่อความอยู่รอด ล่าสุดรัฐบาลออก แพ็คเกจเยียวยาประชาชนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนวณคร่าวๆวงเงินประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ถูกฟันธงจากนักวิชาการทันที งบแค่นี้เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไม่เพียงพอกับการพยุงหรือกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้
โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บอกว่า มาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รอบที่ 3 ของรัฐบาล หากอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาทจริง อาจน้อยเกินไปไม่เพียงพอในการพยุงเศรษฐกิจ เพราะมาตรฐานที่ออกมาบางอย่างไม่สามารถชดเชยความเสียหายหรือเม็ดที่ลดลงจากระบบเศรษฐกิจเพราะการบริโภคในประเทศที่หายไปจากโควิด-19ได้
โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีถือเป็นช่วงวัดใจ หรือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากฉุดเศรษฐกิจไม่ขึ้นอาจมีโอกาสทรุดตัวยาว เพราะจากที่ได้ประมาณการเศรษฐกิจไว้เดิม ไตรมาสที่ 2 ประเทศไทยจะต้องมีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างน้อยร้อยละ 8-9 จึงจะทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3 แต่เมื่อเจอโควิด-19 ระลอก3 ปัจจัยทุกอย่างเปลี่ยนไปทันที ปัญหาที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศที่มีมากขึ้น ในขณะที่การฉีดวัคซีนยังเดินไปไม่ถึงไหน ส่อแววล่าช้าและเกิดปัญหามากมายกระจายอย่างไรให้ทั่วถึง
ทำให้ประเมินได้ว่า เม็ดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อาจจะลงไปในระบบช่วงไตรมาสที่2 ได้เพียง 1 แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอกับการพยุงหรือทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ถือว่าหนักหนานัก เพราะเห็นตัวเลขยอดค้าปลีกในประเทศเดือนเมษายนที่ลดลงเกินครึ่ง เม็ดเงินจากการบริโภคหายไปเดือนละ 1.5-2 แสนล้านบาท หากเดือนพฤษภาคมยังไม่ดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลง การฉีดวัคซีนไม่คืบหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว เงินอาจหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจ 4-6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลต้องอุดช่องโหว่ให้ทัน
ประเทศไทยเวลานี้ต้องหาทางออกจากวิกฤตให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ ทางออกในช่วงวิกฤตทางเดียวอาจไม่เพียงพอ วิกฤตหลายด้านต้องมีทางออกหลายทาง ความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news