Home
|
ข่าว

ล็อกกรุงฯยอดพุ่ง-ลุงเอาไม่อยู่

ล็อกกรุงฯยอดพุ่ง-ลุงเอาไม่อยู่

@สัญญานยังไม่สู้ดีสำหรับ“สงครามโควิด”ที่มาถึงจุดที่เกือบเรียกได้ว่าเข้าโซน“เอาไม่อยู่” เริ่มมีการพูดถึงการ“ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ”ที่เป็น “ศูนย์กลางระบาด” ที่วันนี้(7ก.ค.) โควิดสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)ที่ดุกว่าระบาดเร็วกว่า แซงหน้า สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ)ไปเรียบร้อยแล้ว โดยแสดงผ่าน ตัวเลขที่พุ่งแรงจากแถลงของศบค.วันนี้ ที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย สะสม 2,384 ติดเชื้อเพิ่ม 6,519 ราย สะสม ทะลุ 3 แสน 302,172 ราย อันเป็นตัวเลขที่แตะ 5-6 พันมา 7 วัน จน จากวันที่ 1-7 กค. ติดเชื้อรวม 41,871 ราย เสียชีวิตรวม 364 ราย และเริ่มมีหมอหลายท่านออกมาส่งสัญญานแล้วว่า มีแนวโน้มจะได้เห็นการ “อัพเลเวลตัวเลข”หลักหมื่น ไม่นับรวมที่มีการออกมาเปิดเผยจาก“หมอรามา”เมื่อวานที่รับเคสศพโควิด 4 ศพ ที่ว่า ตัวเลขการเสียชีวิตที่มีการแถลงของศบค.ยังน้อยกว่าสภาพการติดเชื้อและเสียชีวิตจริงๆ ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนผ่านหลายครอบครัวที่รอเตียงทะยอยเสียชีวิต ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คู่ขนานไปกับภาพความแออัดของโรงพยาบาล และภาพความหนักเหนื่อยของบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างานที่มาถึงจุดพีคหลายโรงพยาบาลเริ่มมีบุคลากรแพทย์ติดเชื้อทั้งที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม

@ที่สภาพปัญหา ดังกล่าว เป็นที่มาของการออกมาเคลื่อนไหวของ“หมอหน้างาน” ดังการไปเคลื่อนไหวที่สภาฯวันนี้ของ กลุ่มหมอไม่ทน – ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ที่ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ขอให้ มีการนำเข้าวัคซีน mRNA เพื่อฉีดให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ประชาชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พร้อมเปิดเผยกระบวนการจัดหาวัคซีนอย่างโปร่งใส ที่แม้เมื่อวานจะมีท่าทีจาก หมอ ศบค.ว่าจะมีการทำตามที่ “หมอหน้างาน”ขอประเด็นการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ให้บุคลากรทางการแพทย์บูทเตอร์เข็ม 3 แต่วันนี้ ยังสะดุดกับความเห็นของ “ผอ.ศปก.ศบค.” ที่บอกว่า การจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อนหรือไม่ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า ต้องแบ่งสัดส่วน เนื่องจากแพทย์บางส่วนมีความเห็นว่า ยังสามารถรอได้ แต่บางส่วนที่อยู่หน้างานมองว่าเสี่ยงและกังวล จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจ ขอรอผลการพิจารณาจากกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุขก่อน ยอมรับว่า ศบค.เป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และพื้นที่การแพร่ระบาด และ กำลังรอความเห็นกระทรวงสาธารณสุข จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศหรือเฉพาะพื้นที่

@เรียกว่าสถานการณ์ปัญหาระบบสาธารณสุข มาถึงจุดอันตรายอย่างที่หมอหลายท่านบอกถ้า“หมอหน้างาน”ด่านหน้าล้มก็หมายถึงหายนะที่จะมาเยือนแบบที่เคยเกิดขึ้นหลายประเทศ ที่หมอบางท่านแม้เห็นด้วยว่า สถานการณ์มาถึงจุดนี้เพราะรัฐบาล“นายกฯลุงตู่”ที่บริหารแบบ“ซิงเกิ้ลคอมมานด์”ล้มเหลว ทำให้เกิดสภาพสถานการณ์ที่แย่ลงทุกวัน คนตายเพิ่ม คนป่วยหาเตียงไม่ได้ แต่ด้านหนึ่งในบทบาทของหมอ ก็ยังมีหน้าที่เป็น“นักรบเสื้อกราวน์”สู้กับศึกโควิดต่อไป ทำให้เริ่มมีหลายฝ่ายพยายามเสนอให้ “นายกฯลุงตู่” กลับมาตั้งหลักบริหารจัดการสถานการณ์โดยเฉพาะการสลดความสูญเสียชีวิตให้ได้

@ที่ก็น่าสนใจกับข้อเสนอของ“ชมรมแพทย์ชนบท” ที่ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกระจายฉีดวัคซีนแบบไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนจนสถานการณ์มาถึงจุดนี้ที่ทั้งติดเชื้อและตายเพิ่มขึ้นแบบมีแนวโน้มจะมากกว่าที่เป็นตอนนี้ที่แตะ5พันต่อวัน ดังนั้นในเมื่อเราหยุดการระบาดของโควิดไม่อยู่แล้ว แต่เรายังสามารถลดการตายจากโรคโควิดลงได้ เดือนกรกฎาคม นี้ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ “กรกฎาคม เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุทั่วไทยให้ได้ 70%” โดยด่วน ไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าจะเป็น กทม.พื้นที่ระบาดหนัก มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.6 ล้านคน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 3.5 แสนคน ยังเหลืออีก 1.25 ล้านคนที่ควรตั้งเป้าหมายฉีดผู้สูงอายุในกทม.ให้ได้ 1 ล้านคน โดย ผู้สูงอายุทุกคนไม่ควรต้องรอคิวหมอพร้อมในเดือนถัดๆ ไปอีกแล้ว รัฐบาลต้องเปิดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุทุกคนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ต้องได้ฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคม นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญหนทางเดียว ที่เราจะลดอัตราการตายให้ลดลงครึ่งหนึ่ง ให้จงได้

@ทั้งหมดทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ถัดจากนี้ ว่าจะเชื่อหมอหรือเชื่อใคร ในการจัดการสถานการณ์ถัดจากนี้ไม่ให้เลวร้ายลงไปยิ่งกว่าที่เป็น

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube