ล็อกดาวน์-ปรับแผนสู้โควิด
ล็อกดาวน์-ปรับแผนสู้โควิด
ยังคงน่าห่วง กับ ”ศึกโควิด” ที่แม้วันนี้ (12ก.ค.) จะเข้าสู่มาตรการ “ ล็อกดาวน์ -เคอร์ฟิว” กรุงเทพและ 10 จังหวัด รัฐบาลวันแรก ที่ตัวเลขเสียชีวิตติดเชื้อเพิ่มก็ยังคงพุ่งในระดับ 7-8 พัน โดยลดลงจากเมื่อวานเล็กน้อย คือ เสียชีวิต 80 ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 ราย สะสม 224,232 ราย ที่สอดรับกับ ”ภาพชีวิต” ที่เกิดขึ้น อันมาจาก 3-4 ปัญหาการจัดการในระบบสาธารณสุขที่เชื่อมโยงกัน ห้วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้ง ปัญหา ”รอเตียงเสียชีวิต” จำนวนมาก เพราะไม่มีสถานบริการสาธารณสุขรองรับ พาลให้เกิดภาพหนุ่มใหญ่เครียดหาเตียงให้พ่อติดโควิดเข้ารักษาไม่ได้หิ้วถังน้ำมันไปราดรั้วทำเนียบฯ ปัญหาการตรวจหาเชื้อเชิงรุกที่ปรากฎภาพหดหู่คนไทยกรำฝนข้ามคืนรอคิวตรวจ และ ปัญหาการเร่งฉีดวัคซีน ที่ไม่ลื่นไหลเป้าหล่นจากแสนราย เพราะไม่มีวัคซีนในมือเพียงพอเกิดภาพคุณตาคุณยายไปต่อคิวแออัดรอฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ
ไม่นับรวมการนำมาสู่ปัญหา ”นักรบด่านหน้า” บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่มีเสื้อเกราะป้องกันตัวเพราะวัคซีนที่ฉีด 2 เข็มไม่สามารถป้องกัน ”โควิดสายพันธุ์เดลต้า” ที่เข้ามาแทนที่ ”สายพันธุ์อัลฟา” โดยมีการพบว่าเกิดปัญหา”คอขวด”เพราะระเบียบปฏิบัติที่ปรับไม่ทันสถานการณ์ เช่นกรณี การให้โรงพยาบาลที่ตรวจต้องรับเคสรักษา หรือ การจำกัดการสั่งจ่ายยารักษาโควิด ของแพทย์ หรือ ปัญหาการตรวจเบื้องต้นได้เอง
เรียกว่าแม้จะมีการประกาศ “ล็อกดาวน์” เมื่อวันศุกร์ แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวลและไม่เชื่อมั่นกับแผนการจัดการสถานการณ์ใน14วันจากนี้ ที่มีการคาดการณ์ว่าหากมีการพบผู้ติดเชื้อระดับหนึ่งหมื่นรายต่อวันหรือแสนกว่ารายในสองสัปดาห์ จะให้เกิดอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น แม้ใน “ไส้ใน” จะดูมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ถือเป็น ”ยาแรง” ที่จะดำเนินการพร้อมกันวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น
-ห้ามรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน
-จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด
-ลดการเดินทางขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล -Work from Home ของทั้งภาคเอกชนและรัฐมากที่สุด
-ลดการเคลื่อนย้ายและกิจกรรมของคน
-ปรับแผนระดมฉีดวัคซีนให้กลุ่มสูงอายุและป่วย 7 กลุ่มโรค โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ได้ 1 ล้านคนในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรง
ที่แรงกระเพื่อมดังกล่าวที่กำลัง เริ่มลามไปถึง ศรัทธาความเชื่อมั่นรัฐบาล และสถานะของ “นายกฯลุงตู่” ทำให้วันนี้ นอกจากภาพ ”นายกฯลุงตู่” ที่อยู่ระหว่างกักตัว รับมอบวัคซีนจากญี่ปุ่นแบบออนไลน์ ยังมีภาพ “หมอหนู” ที่ประชุมกับ “คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ” มีมติที่น่าสนใจ 4 ประเด็นสำคัญออกมาคือ
1.ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ในเดือน ก.ค.ได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนกา หรือ ไฟเซอร์
2.การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซนเนกา โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น
3.แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด โดยใช้ Antigen Test Kit ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน
4.แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oxymeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมีการมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
ทั้งหมดต้องติดตามต่อว่ามาตรการ ”ยาแรง” ล็อกดาวน์จำกัดการเคลื่อนไหวประชาชนเพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย ที่ออกมาของรัฐบาลพร้อมกับการเข้าไปแก้ปัญหา “คอขวด”ระบบสาธารณสุขข้างต้น จะเอาอยู่หรือไม่ กับยอดติดเชื้อที่มีการประเมินว่าจะพุ่งทะลุหมื่น และยอดเสียชีวิตจากผู้ติดเชื้ออาการหนักและคนรอเตียงที่ประเมินไว้เช่นกันว่าในสัปดาห์นี้หากไม่ทำอะไรเลยจะมากกว่าที่เป็นอยู่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news