ถามความรู้สึกประชาชนเวลานี้ คงได้คำตอบเหมือนกัน ว่าค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ละคนแต่ละอาชีพก็ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง แต่ใครจะดูแลความรู้สึกและแก้ไขปัญหานี้
คำถามแรก อะไรแพง คำตอบคือน้ำมัน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์ม โดยน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนของการผลิตสินค้า การขนส่ง แพงจนเห็นผู้ประกอบการรถบรรทุกออกมาประท้วงถ้าไม่ได้ราคาน้ำมันลิตรละ 25 บาท คงต้องเห็นรถบรรทุกหยุดวิ่ง แต่เวลานี้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาตรึงราคาช่วยได้แค่คงราคาดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท เหมือนๆกับหลายครั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงรัฐบาลมักเข้ามาอุดหนุน เพื่อลดความร้อนแรงของต้นทุนการผลิตสินค้าอื่นๆ ไม่ให้อ้างสาเหตุราคาน้ำมันพุ่งสูงจนขอปรับราคาสินค้าได้ แต่การฝืนกลไกตลาดก็ใช่ว่าจะทำได้ประสบความสำเร็จทุกครั้ง
สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนจากราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อการบริโภคที่เวลานี้ บางพื้นที่ราคาขายพุ่งสูงถึงขวดละ 58 บาท ไม่ต่างอะไรกับราคาน้ำมันถั่วเหลือง สาเหตุหลักก็มาจากต้นทุนราคาผลปาล์ม ของเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเคยสูงสุดถึงกิโลกรัมละกว่า 10 บาท และยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัจจุบันราคาเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 8-9 บาท ไม่ใช่จะเห็นได้บ่อยนัก สำหรับราคาขายผลปาล์มของเกษตรกรในระดับปัจจุบัน เพราะปกติแล้วราคาผลปาล์มของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 2-3 บาท ขายได้กิโลกรัมละ 4 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงแล้ว ซึ่งก็เป็นราคาที่รัฐบาลกำหนดในโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านี้ราคาผลปาล์มที่กิโลกรัมละ 2 บาท น้ำมันปาล์มขวดขาย 42 บาท แต่ปัจจุบันผลปาล์ม 9 บาท ไม่ต้องเดาว่าราคาปลายทางจะพุ่งสูงขนาดไหน วิธีแก้ของกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังคงเป็นวิธีเดิมๆคือการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า หักคอเอากับบริษัทผู้ผลิตไม่ให้ปรับราคาปลายทางถึงแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขายในโครงการลดค่าครองชีพประชาชน ผ่านรถโมบายธงฟ้า ราคาขวดละ 48 บาท เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดของทางภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้บริโภคเฉพาะหน้า และเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆของกระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอด ซึ่งใช้กับทุกรายการสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นที่ผ่านมา ทั้งผักสด,ไข่ไก่ ล่าสุดคงเป็นเนื้อหมู
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการผ่านกรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัด เปิดจุดจำหน่ายเนื้อหมูธงฟ้า 400 จุดทั่วประเทศเร็วๆนี้ แก้ปัญหาปลายทางที่ราคาเนื้อหมูในตลาดปรับราคาสูงขึ้น
จะให้แบกต้นทุนในช่วงที่ทุกคนกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ทรุดตัวเพราะโควิด-19 ขาดรายได้เลี้ยงตัวเอง ภาคเอกชนที่ถือว่ามีสายป่านยาวที่สุด หากเป็นช่วงสั้นก็พอรับได้ แต่ให้แบกยาวนานจนเข้าเนื้อแบบสาหัสก็คงไม่ไหว การส่งสัญญาณให้คนทั่วไปรับรู้จึงเกิดขึ้น ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศชัดเจนว่าปีหน้าเห็นแน่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น เพราะแบกต้นทุนต่อไม่ไหวอีกแล้ว ทุกอย่าดาหน้าปรับสูงขึ้น ราคาสินค้าไม่ปรับขึ้นเป็นไปไม่ได้
แต่ถึงเวลานั้น กระทรวงพาณิชย์จะใช้ไม้ตายเอากฎหมายคุมราคาบิดเบือนกลไกตลาด ไม่อนุญาตให้ปรับราคาอีกหรือไม่ ผู้ประกอบการประชาชนสร้างสมดุลอย่างไรให้ทุกฝ่ายอยู่รอด คงได้เห็นกันปีหน้า
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news