น้ำมัน-ปากท้องลามทุ่ง
น้ำมัน-ปากท้องลามทุ่ง
@จับอาการ “นายกฯลุงตู่” กับการเทน้ำหนักให้กับเรื่อง “การบ้าน” มากกว่า “การเมือง” ที่บอกว่ายังเหลือเวลาอีกตั้งเดือนที่จะโดน “ฝ่ายค้าน” ซักฟอกไม่ไว้วางใจ พร้อม 10 รัฐมนตรี โดยเฉพาะ การให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤติพลังงาน น้ำมัน แก๊สหุงต้ม ที่กำลังเป็นประเด็นผลกระทบปากท้องความเป็นอยู่ ของประชาชน เป็นโจทย์หินในเอฟเฟ็กต์ซ้อนเด้งที่สอง ต่อจาก วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนลากยาวมา 2 ปี แม้โควิดทั้งโดยพฤตินัยและพฤตินัยจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ปรับโหมดเปิดเมืองเต็มระบบ เปิดหน้ากากเข้าหากันตั้งแต่ 1 ก.ค. หากแต่ ก็ต้องอาศัยเวลาการฟื้นสภาพกับการเปิดท่อรายได้ จากภาคบริการท่องเที่ยว แต่เมื่อมามีปัจจัยจาก “วิกฤติซ้อน” ผลกระทบ “สงครามยูเครน” ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และส่งผลกระทบด้านพลังงาน ก็อาจทำให้ยากขึ้นกับการฟื้นตัว
@แม้วันนี้ (22 มิ.ย.) “นายกฯลุงตู่” จะปลอบใจตัวเองผ่าน อาการดีใจ ที่เมื่อวาน (21 มิ.ย.) ฟิทช์ (Fitch) บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังคงอันดับความนาเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม โดย ”โฆษกแด๊ก” บอกว่า เป็นผลจากการบริหารจัดการด้านการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลมีการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง มีมาตรการเปิดประเทศที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัว เกิดทิศทางเชิงบวกในภาคเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนยิ่งขึ้น
@หากแต่ “ชีวิตจริง” สภาพ “หน้างาน” กับความเป็นอยู่ของประชาชน กำลังได้รับผลกระทบกับการบริหารจัดการสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ จากวิกฤติซ้ำซ้อนทางเศรษฐกิจ อย่างประเด็นปัญหาพลังงานที่ ยังอยู่ในอาการแก้ไม่ตก ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งไป 35 บาท/ลิตร เบนซินไปครึ่งร้อย จนทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของผู้ประกอบการทั้งเอกชนรถรวมบขส. รวมถึงของรัฐเองอย่างขสมก. ที่ออกมาส่งสัญญานลดเที่ยววิ่งรถ 80% ที่ปลายทางส่งผลกระทบประชาชนที่มีรายจ่ายเพิ่มในการไปทำงานในขณะที่รายได้เท่าเดิม ไม่นับรวมการขึ้นราคาสินค้าที่ตามมา โดย “สัญญาณ” เหล่านี้กำลังก่อตัวผ่านภาพการชิงจังหวะของ “ตู่ จตุพร” และ “ทนายนกเขา” ที่ออกมา “เปิดรูระบาย” ให้ผู้คนหาเช้ากินค่ำทั้งสามล้อแท็กซี่วินมอเตอร์ไซต์และทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมารวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยจะเริ่มเคลื่อนไหวในช่วงปลายเดือนนี้ และท้า “นายกฯลุงตู่” มาดีเบตตอบที่ “ลานคนเมือง” ในวันที่ 3 ก.ค.
@ที่กระแสความไม่พอใจจากที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจที่กดดัน ทำให้ “นายกฯลุงตู่” นอกจากระดมทีมเศรษฐกิจพูดคุย และเหมือนจะรับมุกข้อเสนอของ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า ในการไปรีดเลือดจาก “บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน” ทั้งของไทยและต่างประเทศให้แบ่งกำไรมาช่วยพยุงกองทุนพลังงานที่เงินหมดเพราะใช้ไปกับการยื้อเวลาการขึ้นราคาน้ำมันแก๊สมาพักใหญ่ แต่วิธีการนี้ก็เกิดผลกระทบจนหุ้นน้ำมันดิ่ง และมีเสียงท้วงติง จนล่าสุดต้องมาในมุกแบบที่เคยใช้ในสถานการณ์โควิด ให้เรื่อง “วิกฤติพลังงาน” เป็นเรื่องความมั่นคง ดึง สภาความมั่นคง (สมช.) เข้ามารับผิดชอบดูแล อย่างที่ “โฆษกแด๊ก” แถลงไขเมื่อวาน (21 มิ.ย.) ว่ามีข้อสั่งการจากนายกฯ ว่า จะมอบให้ สมช.ดูและเตรียมรับมือ เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน และอาหาร เพื่อเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญของไทยและโลก หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้น ได้คลี่คลายลง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน
@เรียกว่า เป็นอีกครั้งที่ “นายกฯ” ใช้บริการ สมช.ที่เชื่อมโยงโหมดความมั่นคงกองทัพ เข้ามาดูในประเด็นที่คาบเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤติพลังงาน ที่ถูกหลายฝ่ายรวมไปถึงภาคเอกชนจับตาวิธีการบริหารจัดการครั้งนี้ ว่าจะลงเอยแบบ กรณี การจัดการ วิกฤติโรคระบาดโควิด ที่เคยเกิดความสับสนกันเองกับฝ่ายราชการกระทรวงที่รับผิดชอบหรือไม่ และจะได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติหรือไม่ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในช่วงปลายรัฐบาลที่เหลืออีก 9 เดือน ที่ยังไม่นับรวมปฏิกิริยาของ “รูระบาย” ที่ถูกเปิดขึ้น ที่จะไปบรรจบกับวัน “ซักฟอก” กลางเดือน ก.ค. จะทนรอการแก้ปัญหาแบบความมั่นคงได้หรือไม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews