เกมยุบพรรค?
@จังหวะจะเข้าโซนวันหยุดยาวสงกรานต์ ระหว่างเวลาการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองน่าสนใจความเคลื่อนไหว
ผลกระทบกับพรรคกระแสแรงจากซีกฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย”ที่วางยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์และกระแสโพลมาแรง แม้กระทั่งการขยับประเด็นหาเสียงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ที่กำลังสร้างกระแส เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย จากฝ่ายเดียวกันและต่างฝ่ายและแม้กระทั่งถูกวิจารณ์ในความสุ่มเสี่ยง อย่างที่ “พี่ศรี” “ศรีสุวรรณ” ไปยื่นร้องกกต.ตรวจสอบการเข้าข่าย “สัญญาว่าจะให้หรือไม่” ที่แม้ เลขา กกต. “แสวง” จะออกมาทำนองว่าไม่เข้าข่ายแต่กระบวนการตรวจสอบดำเนินการของ กกต.ก็ต้องดำเนินไปตามขั้นตอน
@ กระนั้น ประเด็นที่ว่ากันว่ากำลังทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายในพรรครวมถึงผู้สมัครส.ส.ของเพื่อไทย และรวมถึงถูกจับตาในซีกฝั่งพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรือ ฝ่ายค้านเดิม ไม่ว่าจะเป็น ก้าวไกล ไทยสร้างไทย หรือเสรีรวมไทย และรวมถึงฝั่งรัฐบาลเดิมที่ก่อนหน้านี้มีข่าวการจับขั้วของ พลังประชารัฐ (พปชร.) กับ “ภูมิใจไทย” (ภท.) ที่ทุกฝ่ายจับตา กระบวนการของคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ในเคสที่ “สนธิญา สวัสดี” ยื่นร้องกกต. (31มี.ค.)ให้ยุบพรรคเพื่อไทย
กรณี ให้ “เต้น ณัฐวุฒิ” ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เป็นผู้ช่วยหาเสียงอาจผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 158 และมาตรา 159ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 20 มาตรา 21 และ มาตรา 22 เพราะ ณัฐวุฒิ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยปล่อยให้ปราศรัยบนเวทีมาโดยตลอด และทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้ หากกรรมการบริหารพรรคเห็นด้วย กับที่นายณัฐวุฒิปราศรัยเท่ากับยินยอมพร้อมใจให้ดำเนินการ ซึ่งสามารถนำไปสู่กระบวนการพิจารณาถึงขั้นยุบพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
@ โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ “ผู้ร้อง” มีการยื่นประเด็นดังกล่าวไปตั้งแต่ 3 ก.พ. 66 หลังจากที่ กกต.มีการออกกติกา “ยุบพรรคติดเทอร์โบ” ประกาศใช้ 31 ม.ค.66 ที่ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. กกต.มีการตั้งคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐานภายใน 30 วัน ซึ่งสามารถขยายได้ 30 วันรวม 60 วัน ซึ่งครบ
กำหนดวันนี้ (10เม.ย.) ที่น่าสนใจคือกรณีนี้ต่างจากเคส “อ.สมชัย”
และ “วีระ” ที่ไปยื่นและถูกตีตกไม่มีการตั้งกรรมการรวบรวมหลักฐานต่อ โดยมีรายงานว่ามีการเรียก “ผู้ร้อง” ให้ปากคำไปวันที่ 28 ก.พ.จากนั้น 30 มี.ค. มีการทำหนังสือ 2 ฉบับ คือ ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ที่มีรายงานผู้ถูกร้อง ตอบข้อหนังสือกรณี ที่ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้าครอบงำกิจการพรรคการเมือง
@ โดยมีการชี้แจง 1. บุคคลนั้นไม่ได้รับเป็นสมาชิกพรรคจริง 2. บุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมเอกสาร 3. บุคคลท่านนี้เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นการกระทำที่ ยินยอมให้มาทำหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่ผิดตาม ม. 28 แต่ขอนำพยานหลักฐานบุคคลเข้าให้ปากคำหลังวันที่14 พ.ค. 66 ทั้งที่ กกต.ขอให้ชี้แจงด่วนภายใน 7 วันหรือ 15 วัน
ซึ่งผู้ถูกร้อง อ้างว่า เป็นช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้งจึงไม่สะดวกนำเอกสารมามอบให้ ที่น่าสนใจ คือ คณะกรรมการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานมีเวลาให้ถึง 10 เม.ย. เมื่อ “ผู้ร้อง” จึงไปกดดัน ยื่นร้องกกต.วันที่ 2 เม.ย.ว่าถ้ามีดุลพินิจให้เลื่อนการให้ปากคำหลังวันที่ 14 พ.ค. ผู้ร้องจะไปยื่นแจ้งความดำเนินคดีกับ กรรมการชุดนี้ และ กกต. ตามม.157 เพราะระเบียบบอกไว้มีเวลาสูงสุดไม่เกิน 60 วันจะต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมดให้ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” กกต.ใหญ่พิจารณาจะส่งเรื่องให้ศาล รธน.พิจารณา หรือตีเรื่องกลับมาให้สอบเพิ่มเติม
@เรียกว่าสถานการณ์แม้ ฝ่ายผู้ถูกร้อง จะพยายามดึงจังหวะ แต่ฝ่ายผู้ร้อง ก็กดดันให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการ โดยกดดันทั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อมูล และ กกต.ซึ่งประเด็นนี้ว่ากันว่าเป็นอีกประเด็นที่จะส่งผลกระทบกับภาพการเมืองใหญ่ที่กำลังมีการหาเสียงเลือกตั้งโดยอาจเกิดเป็นภาพเหมือนกรณีการเลือกตั้งปี 62
ที่มีบางพรรคถูกยุบพรรคระหว่างการหาเสียงหรือไม่ โดยเฉพาะหากคำตอบข้อสรุปมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเว้นแต่กกต.มีการส่งเรื่องให้ กรรมการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยว่ากันว่า หลังจากนี้ตามกระบวนการ กกต.ใหญ่ มีเวลาพิจารณาภายใน 30 วันกับประเด็นนี้.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews