@ ถัดจากที่ “อ.วันนอร์” รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่วันนี้(6ก.ค.)สภาฯกำลังมีการซักซ้อมพิธีแล้ว จากนั้นไปจนถึงวันที่ 13 ก.ค.
ตามที่ตั้งตุ๊กตาหน้าปัดการเมืองจับจ้องไปที่ “ทุกความเคลื่อนไหว” ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยเปิดและปิด บนดิน ใต้ดิน หรือเชิงสัญลักษณ์ของแต่ละกลุ่มฝ่ายการเมือง ทั้ง “สภาล่าง” ส.ส.500 และ “สภาสูง” ส.ว. 250 รวม 750 ที่จะร่วมโหวตด้วยเสียง 376 เพื่อให้ได้ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ไม่ว่าจะเป็นท่าทีความเคลื่อนไหวของ “ฝ่าย 8 พรรคร่วม” 312 เสียงหรือ ฝ่ายพรรครัฐบาลเดิม 188 และ ในส่วนของ “ส.ว.250” ที่บางฝ่ายมองเป็นก้อนเดียวกัน บางฝ่ายมองแบบ “แบ่งส่วน”ระหว่าง “ลุงคนพี่” กับ “ลุงคนน้อง” แห่ง 3 ป. ที่อยู่ใน 2 พรรค ปีก 188 คือ พลังประชารัฐ(พปชร.)และ รวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)
@ เป็นการจับตา ความเคลื่อนไหวและสัญญญาณ นับแต่ การปรากฏร่องรอยใหม่ ที่ว่ากันว่า ผิดไปจาก “แพลนเดิม”ที่เคยมีครหาไปถึง “ดีลข้ามขั้ว” เพื่อความสมานฉันท์ ผ่านเส้นทางไปสู่ “นายกฯโซ่ข้อกลาง” ที่ชื่อ “ลุงป้อม”ผ่านผลลัพธ์การโหวตประธานสภา เป็นชื่อ “อ.วันนอร์” จากพรรคประชาชาติ ไม่ใช่ชื่อของ “หมออ๋อง” จากก้าวไกล(ก.ก.)หรือ “พ่อมดดำ-สุชาติ ตันเจริญ” จากเพื่อไทย(พท.) ที่ถูกมองว่า มีร่องรอยจาก “คนไกล” ที่ประเมินการ “ไม่ยอมถอย”ปธ.สภา แบบยอมหัก ไม่ยอมงอ ของ “ก้าวไกล” ที่จะกระทบกระแส พท.ระยะยาว
@ ที่ก็เช่นเดียวกับ “ร่องรอย” ที่เกิดผ่าน 77 เสียง ที่ไม่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่มีองค์ประกอบหลักจาก “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู” ในการโหวตให้ “วิทยา แก้วภราดัย” ชิงตำแหน่งรองปธ.สภาคนที่ 1ในเชิงสัญลักษณ์ กับ “หมออ๋อง” จนมีการวิเคราะห์ไปถึงการสร้างตำนานของ “เสี่ยหนู” ในการจะเข้าร่วมรัฐบาล 9 พรรคในแนวทางที่ “อ.สุขุม นวลสกุล” เคยเรียกร้องให้ “สภาล่างส.ส.” ยึดหลักการประชาธิปไตย นายกฯมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ช่วยกันปิดสวิตช์ ส.ว. ในการมีส่วนโหวตนายกฯ ด้วยการช่วยกันเทเสียงโหวตนายกฯ ให้ถึง 376โดยเฉพาะ พรรค ภท.และ ประชาธิปัตย์ ที่อยู่ใน กลุ่มเสียง 188 ที่เคยเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นเหล่านี้ที่แม้เอาเข้าจริง การขยับของ ภท. ถูกมองว่าเป็นการ “สร้างดุลการเมือง” เพราะเป็นพรรคที่มีเสียงมากสุดในกลุ่ม 188ในขณะก็มีเสียง 71 เสียงพอ ที่จะไป “”เติม” ให้กับ “8 พรรค 312 เสียง” ให้โหวตนายกฯ 376 เสียงได้โดยไม่ต้องใช้บริการ ส.ว.250
@ ที่การกระเพื่อมดุลของ ภท.ดังกล่าว ก็น่าสนใจเช่นกัน กับจังหวะการออกมาส่ง “สัญญาณ” ของ “บิ๊กตุ๋ย พีระพันธุ์”ในการโพสต์เนื้อเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่คล้ายท่วงทำนองการ “อธิบาย” สาเหตุ ที่ทำไม “รทสช.” ส่ง “วิทยา”แข่งรองปธ.สภา กับ “หมออ๋อง” ที่ในจังหวะก่อนจะมีการโหวตนายกฯ อีกไม่กี่วัน ทำให้ถูกตีความไปถึงแนวทาง”รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ที่จะเสนอชื่อ “พีระพันธุ์” เป็นนายกฯ จากปีก 188 เสียง พรรครัฐบาลเดิม จน วันนี้(6ก.ค.)ขิง “เอกนัฏ” ต้องรีบแจงสยบข่าว รทสช. ยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ที่ก็เช่นเดียวกับซีก สภาสูงที่นัดประชุม 10-11 ก.ค. เตรียมการโหวตนายกฯ ท่ามกลางการขยับถี่ ของ “ส.ว.เพลย์เมกเกอร์” 4-5 คน ที่เคลื่อนเกมที่พยายามก้มต่ำ ไม่แสดงท่าทีเรื่อง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” หากแต่พุ่งไปที่การยุให้ พท. สลัดทิ้ง ก.ก. และ ล่อให้ ก.ก.ยอมลดเพดานเรื่องแก้ ม.112 เพื่อส.ว.จะเปิดใจให้ “พิธา” ไม่นับรวม “ลุงตู่” ที่ระยะหลัง เก็บอาการ รักษาระยะห่างที่จะพูดเรื่องการเมือง
@ กระนั้นก็น่าสนใจเช่นกัน กับทิศทางที่ “พิเชษฐ์” รองปธ.สภาคนที่ 2 จาก พท.ที่ออกมาวางตุ๊กตา คร่าวๆ ทำนองวางวันเลือกนายกรัฐมนตรี 3 วัน คือ 13 ก.ค. และ 19-20 ก.ค. โดยคาดว่า 3 วันนี้ ก็น่าจะเพียงพอ ได้นายกรัฐมนตรีแล้วถ้าไม่ได้ ก็จะคุยกันใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมบ่อยๆ และใช้สมาชิกรัฐสภา 750 คนก็ค่อนข้างลำบาก ดังนั้น เวลา 3 วันก็เยอะแล้ว และอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้ ส่วนกรณีถ้าหากกำหนดไว้ 3 ครั้งแรกแล้วยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี จะมีการพูดคุยกันใหม่ หรือพลิกให้พรรคเพื่อไทย เป็นคนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องแล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุม 8 พรรค ที่ต้องทำตาม MOU ที่จะต้องจับมือกันไป ซึ่งต้องพูดคุยกันเป็นการภายใน ในขณะที่ฝั่งก้าวไกล “ไหม-ศิริกัญญา” ออกมาปฏิเสธ 8 พรรคยังไม่ได้ตกลงกัน เรื่องจำนวนวันโหวตนายกฯ ว่ากี่วัน กี่ครั้ง ต้องรอคุยกับ “วันนอร์” อีกครั้ง มองเร็วไปจะกำหนดตอนนี้ ในขณะที่ “อ.วันนอร์”ยังยืนยัน หาก พิธา ไม่ผ่านการโหวตครั้งแรก ก็ชงชื่อโหวตซ้ำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews