ซัดเดือดพูดดักคอ เบรกค่าแรง 400 ทั่วไทย
“ขึ้นค่าแรง” ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นที่พรรคเพื่อไทยใช้โปรโมทช่วงการเลือกตั้ง และเมื่อได้มาเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” ก็ประกาศว่า จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน มีผล 1 มกราคม 2567
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเคาะอัตราค่าจ้างใหม่ ทางคณะกรรมการค่าจ้างจะมีการประชุมและประกาศในเดือนธันวาคมนี้ แต่ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” ยืนยันชัดเจนว่า การจะปรับอัตราค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่จะขึ้นเป็นราย จังหวัด ไม่ได้เท่ากันทั้งหมด
ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ภาคแรงงานออกมาท้วงติง “รัฐมนตรีฯพิพัฒน์” ถึงการให้สัมภาษณ์ เพราะเปรียบเสมือนเป็นการชี้นำคณะกรรมการค่าจ้างที่จะมีการประชุมกันโดย “นายชาลี ลอยสูง” ที่ปรึกษา สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย หรือ สสรท. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า รัฐมนตรีฯพิพัฒน์ ไม่สมควรที่จะออกมาพูดดักคอเรื่องค่าแรง ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะปรับเป็น 400 บาท เพราะในการหาเสียงเลือกตั้ง รัฐบาลเศรษฐา ได้ให้คำมั่นว่าจะปรับเป็น 400 บาท มีผล 1 มกราคม 2567
“แต่ถ้าถามว่า พูดเร็วไปไหม ก็ไม่สมควรที่จะต้องออกมาพูด เพราะว่าในการหาเสียงเขาได้มีการหาเสียงเอาไว้ มันไม่สมควรที่จะต้องมีการพูดดักคอขึ้นหรือไม่ขึ้น มันเป็นการชี้นำ ทำให้คณะกรรมการไตรภาคีเพราะเป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีใครกล้าในเรื่องความเห็นแย้ง มันไม่ถูกพี่ว่ามันไม่ถูกในหลักการ และก็เป็นนโยบายหาเสียงของเขาด้วย มันไม่สมควรออกมาพูดในลักษณะแบบนี้ เพราะคุณหาเสียงไว้ว่าในมกราคมคุณจะต้องปรับเพิ่ม 400 บาทนะ พอมาถึงวันนี้ คุณเล่นมาเปลี่ยนกะทันหันอย่างนี้ เสียความศรัทธา และความน่าเชื่อถือ
“นายชาลี” กล่าวอีกว่าวันนี้ การปรับขึ้นค่าแรงมีความจำเป็นมาก โดยให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อราคาสินค้า และแม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมราคาสินค้าได้ แต่ในส่วนของสินค้าตามตลาด ยอมรับว่าแพงขึ้น
“ช่วงนี้ก็เหมาะสม ในเรื่องสินค้ามันขึ้น ราคาสินค้าขึ้นเยอะแยะมากมาย ซึ่งรัฐบาลคุมราคาสินค้าตามท้องตลาดไม่ได้นะ แต่ถ้าเผื่อเป็นสินค้าที่จดทะเบียนไว้คุมได้ สินค้าตามท้องตลาดคุมไม่ได้ ตัวนี้ขึ้นไม่รู้เท่าไร คุณลองไปดูเองแล้วกัน ลูกจ้างโดนเข้า 2 ดอก ดอกแรกก็คือราคาสินค้าขึ้นไปรอแล้ว ถ้าเผื่อมีการปรับค่าจ้างขึ้นไป ลูกจ้างก็ไม่ได้เพิ่ม ได้มาก็ไปจ่ายราคาสินค้า แต่ถ้าไม่ปรับก็โดน 2 เลยก็คือ ค่าจ้างขั้นต่ำเท่าเดิม แถมยังโดนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปอีก”
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประเด็นเรื่องค่าแรงมีข้อถกเถียงกัน “นายชาลี” จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้มีการระบุชัดเจนว่าในแต่ละจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไร
“เราไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ทำเป็นค่าจ้างแรกเข้าไปเลย แล้วไปออกกฏหมาย ว่าทุกบริษัท ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง ปรับค่าจ้างรายปีให้กับคนงาน อย่างนี้จบเลย ไม่ต้องพูดถึงมันแล้ว แล้วก็ไม่มีผลเรื่องเศรษฐกิจที่มันจะมีการขึ้นมาโดยที่ว่า ตามกระแส ค่าจ้างแรกเข้าจบเลย ทำโครงสร้างค่าจ้าง ออกกฏหมายมา หรือกฏกระทรวงมา ทุกบริษัทมีลูกจ้างตั้งแต่เท่าไร 10 คนขึ้นไปจะต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง ต้องปรับค่าจ้างรายปีให้กับพนักงานทุกปีด้วยการประเมิณผล กี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป แบบนี้จบเลย เราไม่ต้อง
ไปเรียกค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ค่าจ้างแรกเข้าจะเอาตัวไหนเป็นตัวตั้ง ตอนนี้สูงสุดเท่าไร ก็เอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง”
และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในยุครัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งจากนี้ต่อไปจะต้องจับตาประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะสุดท้าย ท้ายสุด “นายชาลี” บอกว่า ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews