วิกฤตศก.ทิพย์ – วอลเล็ตล้มรัฐ?
ยังคงเป็นประเด็นที่ “นายกเศรษฐา”และผู้คนในรัฐบาล ต้องมีการชี้แจง3เวลาทุกวัน สำหรับ นโยบายเรือธง“แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอเล็ต”แม้กระทั่งมีความชัดเจนจากการแถลงของ “นายกฯ”ไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(10พ.ย.)ว่าจะแจกใครบ้าง และเอาแหล่งเงินมาจากไหน จากที่รัฐบาลถูกถามหา “ความชัดเจน”มาตลอดหลายเดือน แต่กลับกลายว่า
การบอกถึง“ความชัดเจน”จาก “นายกฯเศรษฐา”ยิ่งพันตูไปสู่ภาวะชักจะ“วิกฤติ”ของรัฐบาล ที่ถูกหลายฝ่ายตามบดขยี้ไปร้ององค์กรอิสระไล่ตั้งแต่ กกต.,สตง.,ปปช.,ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เชื่อมไปยัง “ศาลรัฐธณรมนูญ” ทั้ง“ความไม่ตรงปก”ตามที่หาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “แจกใคร”และ “แหล่งเงิน”จากที่แจกถ้วนหน้ากลายเป็นมีเงื่อนไข หรือ จากที่ใช้เงินจากการไปเจียดมาจากงบปกติ กลายเป็น “นอกงบประมาณ”หรือ “กู้มาแจก”โดยออกเป็น พรบ.กู้เงิน ที่ถูกจับผิดความย้อนแย้ง ปม“ความจำเป็น”ในภาวะ “วิกฤติเศรษฐกิจ”
ที่กระแสจับผิดดังกล่าวนำมาซึ่งการ “ดึงจังหวะ”เพลย์เซฟในการให้ “กฤษฎีกา”ไปดูว่าทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้อาจถอยหรือค่อยว่ากัน อย่างที่ทั้ง“เศรษฐา”และ”จุลพันธ์”ปัดว่าเพื่อไทยมี “แผนสำรอง”หาก พรบ.กู้เงินไม่ผ่านกฤษฎีกา โดย “นายกฯเศรษฐา”บอกว่าไม่ใช่เฉพาะเพื่อไทยที่กังวัลประชาชนก็กังวลห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเคยพูดไปแล้วว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤติและมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ “จุลพันธ์”รมช.คลัง
ที่แม้จะอธิบาย วิกฤติฉุกเฉินทำไมไม่ออกเป็น พรก.กู้เงิน แต่มาออกเป็น พรบ.ว่าเพราะช่องทางนี้ตรงไปตรงมาได้รับการตรวจสอบจากสภา แต่ก็ยอมรับหากพรบ.กู้เงินไม่ผ่าน ก็ยังไม่มีแผนสำรอง และยอมรับว่ามี “ความเสี่ยง” ในทางการเมืองแม้จะเชื่อมั่นใน320เสียงของรัฐบาล แต่ก็ไม่กังวลที่หลายคนมองว่าโครงการนี้จะเป็นการ “ตั้งธงล้มรัฐบาล”
อย่างที่ “จุรินทร์”อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จับไต๋ว่า“การกู้เงินมาแจก”อาจไม่วิกฤติจริง เพราะออกเป็น พ.ร.บ.เพราะหากประเทศวิกฤติจริง ทำไมไม่ออกเป็น พ.ร.ก. หรือเป็นแค่สนองนโยบายหาเสียง แต่ไม่ด่วนจริง เช่นดียวกับ “อ.ยุทธพร”ที่มองว่า เพื่อไทย กำลังอยู่ในอาการ เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ดี เปรียบเป็นสภาวะทางสองแพร่ง
สำหรับรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง ถ้าถอยกระบวนการตั้งคำถามจะเกิดขึ้น เพื่อไทยจึงไม่สามารถล้มเลิกนโยบายนี้ได้ แต่ถ้าเดินหน้าจะต้องถูกกระบวนการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน และหากสุดท้ายกฎหมายไม่ผ่านทั้งชั้นสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไรนั้น ตามธรรมเนียม นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า จะต้องทำอย่างไร ในกรณีกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน
แต่คงต้องแสดงความรับผิดชอบ
กระนั้นก็มีบางฝ่ายวิเคราะห์ นอกจากอาจจะจบที่ “กฤษฎีกา”เคาะทำไม่ได้ หรือ หากไปต่อใน สภา จะเป็น “ทางลง”ของรัฐบาล ที่บรรดา “พรรคร่วมรัฐบาล”ทั้ง ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา บอกจะรอฟังกฤษฎีกา เป็นหลัก ไม่ปล่อยให้เป็น เรื่องถูก “มัดมือชก” ขณะที่บางฝ่ายกลับไม่เชื่อว่า เงินหมื่นดิจิตอลจะถูกคว่ำ แต่จะผ่าน ทั้งกฤษฎีกา พรรคร่วม ส.ว.ศาลรัฐธรรมนูญ
โดยมองว่าต่างจากครั้งพรบ.กู้2.2ล้านล้าน สมัย “ยิ่งลักษณ์”ที่ตอนนั้นเพื่อไทยยังอยู่คนละข้างกับฝ่ายอำนาจอนุรักษ์นิยม แต่ขณะนี้ถูกมองเป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่” ที่มีนายกฯCEO “เศรษฐา”และทีมบริหารมาทำงานแทน “ลุงตู่”โดยมีค่าจ้างเป็นการได้เป็นรัฐบาล และเอา “คนแดนไกล”กลับบ้าน “เงินหมื่นดิจิทัล”จึงสำคัญต่อ“เสถียรภาพรัฐบาลเพื่อไทย” ที่จะหลุดพ้นจากสภาพ “ติดลบ”จากที่ ข้ามขั้ว“ทิ้งก้าวไกล”ในการเอาเศรษฐกิจนำการเมือง ใช้เงินหมื่นกระตุ้นให้ปากท้องดี ซึ่ง “ฝ่ายอำนาจ”ก็ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและใช้เวลา4ปีสลายการต่อสู้เปลี่ยนประเทศ ของคนรุ่นใหม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews